ทีมนักดาราศาสตร์สวิส-ฝรั่งเศส ประกาศพบดาวเคราะห์หิน 3 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์นอกระบบสุริยะและไกลจากโลก 42 ปีแสง บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์คล้ายโลกอาจมีอยู่ทั่วไปในเอกภพ
"เป็นไปได้ที่ดาวฤกษ์เดี่ยวๆ จะบดบังดาวเคราะห์บริวารไว้ แล้วถ้าใช่ จะมีมากน้อยเท่าไหร่กัน? เราอาจจะยังไม่รู้คำตอบในตอนนี้ แต่ก็กำลังมุ่งไปข้างหน้าก้าวใหญ่เพื่อให้ได้คำตอบ" รอยเตอร์เปิดการนำเสนอข่าว ด้วยคำถามและคำกล่าวของไมเคิล เมยอร์ (Michel Mayor) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจนีวา (Geneva Observatory) มหาวิทยาลัยเจนีวา (Geneva University) ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่กล่าวในการประชุมทางด้านดาราศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องซูเปอร์เอิร์ธนอกระบบสุริยะ (Extra-solar Super-Earths) ที่เมืองนานส์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อกลางเดือน มิ.ย.51 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ทีมนักดาราศาสตร์สวิสและฝรั่งเศส อาศัยความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือจากหอดูดาวลา ซิลญา (La Silla Observatory) หอดูดาวแห่งซีกฟ้าใต้ของยุโรป (European Southern Observatory) ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายที่ประเทศชิลี สำรวจท้องฟ้าแล้วพบดาวเคราะห์หิน 3 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างโลก 42 ปีแสง โดย 1 ปีแสงเป็นระยะทางประมาณ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร ทั้งนี้ตำแหน่งบนท้องฟ้าของระบบดาวเคราะห์นี้ อยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง (Doradus constellation) และกลุ่มดาวขาตั้งภาพ (Pictor constellation)
แม้ว่าดาวเอชดี 40307 (HD 40307) ที่เป็นศูนย์กลางของดาวเคราะห์ทั้งสาม จะเล็กกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา แต่ดาวเคราะห์ทรีโอที่เพิ่งค้นพบนี้ กลับมีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราหลายเท่า โดยดวงที่เล็กสุดมีขนาดใหญ่กว่า 4.2 เท่า ส่วนที่เหลือก็มีขนาด 6.7 และ 9.4 เท่าของโลก ด้วยเหตุที่ใหญ่กว่าโลกนี่เองบีบีซีนิวส์ได้อธิบายว่าเป็นเหตุผลให้ดาวเคราะห์ทั้งสามได้ชื่อว่า "ซูเปอร์เอิร์ธ" (super-Earth) แต่ก็ยังเล็กกว่ายูเรนัสและเนปจูน ซึ่งใหญ่กว่าโลกเราถึง 15 เท่า
อุปกรณ์ที่ทีมนักดาราศาสตร์ใช้เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ซูเปอร์เอิร์ธ คืออุปกรณ์ที่ค้นหาดาวเคราะห์เคลื่อนที่เร็วได้แม่นยำสูง "ฮาร์ปส" (High Accuracy Radial velocity Planet Searcher: Harps) ทั้งนี้ดาวทั้งสามมีคาบโคจรค่อนข้างเร็ว หากยึดการนับเวลาเป็นวันเช่นเดียวกับโลก ดาวที่ค้นพบใหม่นี้มีดวงหนึ่งใช้เวลาแค่ 4 วันโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเอง อีกดวงใช้เวลา 10 วันและดวงที่โคจรช้าที่สุดใช้เวลา 20 วัน
นับตั้งแต่ปี 2538 ที่ไมเคิล เมยอร์และดิดิเยร์ คิวโลซ (Didier Queloz) เพื่อนร่วมงานจากสถาบันเดียวกัน ได้พบดาวเคราะห์รอบดาว 51 ในกลุ่มดาวม้าบิน (51 Pegasi) ปัจจุบันมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกว่า 270 ดวงได้รับการค้นพบ โดยโคจรอยู่รอบดาวคล้ายดวงอาทิตย์ แต่ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์คล้ายๆ ดาวพฤหัสบดีหรือดาวขนาดดาวเสาร์ ส่วนดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่ใกล้เคียงกับขนาดของโลกนั้นหาได้ยาก
"ด้วยอุปกรณ์วัดสเปกตรัมที่แม่นยำมากอย่างฮาร์ปส ตอนนี้เราค้นหาดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ในขนาด 2-10 เท่าของโลกได้แล้ว เป็นไปได้ว่ายังมีดาวเคราะห์อื่นๆ อยู่อีก ไม่ใช่เพียงซูเปอร์เอิร์ธหรือดาวเคราะห์อย่างดาวเนปจูนซึ่งมีคาบโคจรยาวนาน แต่อาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกซึ่งเรายังตรวจจับไม่พบ ในส่วนของดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสซึ่งเป็นที่รู้จักดีแล้วนั้นอาจมีอยู่ดาษดื่นก็เป็นได้" สเตฟาน อือดรี (Stéphane Udry) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจนีวาซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้ด้วยกล่าว
ผลจากการศึกษานี้ทีมวิจัยได้ส่งรายงาน 2 ฉบับแก่วารสารวิชาการแอสโตรโนมี แอนด์ แอสโตรฟิสิกส์ (Astronomy and Astrophysics) ด้วย ขณะเดียวกันไซน์เดลี ได้เผยรายชื่อผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ได้แก่ ไมเคิล เมยอร์, สเตฟาน อือดรี, ดิดิเยร์ คิวโลซ (Didier Queloz), คริสโตฟี โลวิส (Christophe Lovis) และฟรานซิสโก เปเป (Francesco Pepe) จากหอดูดาวเจนีวา มหาวิทยาลัยเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ฟรองซัว บูชี (François Bouchy) จากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งปารีส (Institut d'Astrophysique de Paris) ฝรั่งเศส, วิลลี เบนซ์ (Willy Benz) และคริสโตฟี มอร์ดาสินี (Christophe Mordasini) จากมหาวิทยาลัยเบิร์น (Bern University) และฌอง-ลูป แบร์โตซ์ (Jean-Loup Bertaux) จากมหาวิทยาลัยแวร์ซายล์ในเซนต์เควนติน (Université de Versailles Saint-Quentin) ฝรั่งเศส