xs
xsm
sm
md
lg

โลกหาใช่สิ่งพิเศษหนึ่งเดียว อาจมีดาวคล้ายเราอีกเป็นร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/เอเยนซี - การศึกษาล่าสุดพบว่าดาวคล้ายดวงอาทิตย์กว่าครึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกอาจมีระบบดาวเคราะห์เช่นเดียวกับเรา และอาจมีดาวคล้ายโลกอีกนับร้อยที่ยังค้นไม่พบนอกระบบสุริยะ ซึ่งการศึกษาโลกเหล่านั้นอาจเปลี่ยนความเข้าใจแบบสุดขั้วเกี่ยวกับการก่อเกิดดาวเคราะห์

ไมเคิล เมเยอร์ (Michael Meyer) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐอเมริกา เชื่อว่าอาจมีดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกจำนวนมากอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาของเขาและทีม จากการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)

เขาสำรวจดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่อยู่ไกลออกไป 163 ปีแสง พบว่า 20-60% ของดาวฤกษ์เหล่านั้น มีหลักฐานของการก่อตัวดาวเคราะห์หิน
ซึ่งไม่เหมือนกับกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านำไปสู่การเกิดโลก

"นั่นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก คำถามคือระบบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในกาแล็กซีของเรานั้นคล้ายกับระบบสุริยะมากน้อยแค่ไหน?" เมเยอร์กล่าว

ทั้งนี้เขาและทีมได้ตรวจพบแถบฝุ่นอวกาศที่อยู่รอบดาวฤกษ์ในกลุ่มอายุน้อยที่สุด ซึ่งเชื่อว่าฝุ่นเหล่านั้นเป็นผลพลอยได้จากการชนกันและรวมตัวกันเพื่อก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ ทั้งนี้เขาชี้ว่าระยะทางระหว่างดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่เหมาะสมทำให้เกิดความมั่นคงที่สิ่งมีชีวิตจะอุบัติขึ้น

นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่ามีโครงสร้างของหินเล็กๆ หลายร้อยอยู่ที่ขอบด้านนอกระบบสุริยะของเรา และอาจมีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกจำนวนสักหยิบมือจากจำนวนนับร้อยที่ถูกแช่แข็งอยู่

อย่างไรก็ดีนาซามีปฏิบัติ "เคปเลอร์" (Kepler) ซึ่งมีภารกิจในการค้นหาดาวเคราะห์ทั้งที่มีขนาดเล็กกว่าและที่มีขนาดพอๆ กับโลก ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวจะเริ่มขึ้นปีหน้าและได้รับความคาดหวังว่าจะเผยให้เห็นร่องรอยของโลกอันห่างไกลที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ

ด้าน ดร.อลัน สเติร์น (Dr.Alan Stern) ผู้บริหารระดับสูงจากนาซาเชื่อว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรานั้นเป็นจำนวนน้อยนิดดั่งปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง เฉพาะแค่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper) ก็พบวัตถุอวกาศได้นับพันแล้ว โดยส่วนใหญ่มีขนาดทัดเทียมกับดาวเคราะห์แคระพลูโต

"มุมมองเดิมของเราที่ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ 9 ดวงนั้นจะถูกแทนที่ด้วยแนวคิดว่า มีดาวเคราะห์นับร้อยหากไม่ใช่พันในระบบสุริยะของเรา ในจำนวนดาวเคราะห์เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งและมีบางส่วนเป็นหิน และเป็นไปได้ว่าอาจมีดาวเคราะห์ที่มีมวลเท่ากับโลกอยู่บริเวณเมฆของออร์ต (Oort Cloud - แถบฝุ่นที่อยู่รอบๆ ระบบสุริยะ) แต่วัตถุเหล่านั้นถูกแช่แข็งที่ระยะดังกล่าว และอาจจะดูคล้ายโลกที่แช่แข็ง" ดร.สเติร์นระบุ

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยทางดาราศาสตร์ที่สนับสนุนว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกนั้นเป็นแหล่งของระบบสุริยะมากกว่าที่เคยคิดไว้

สก็อตต์ กัวดี (Scott Gaudi) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University) สหรัฐฯ และทีมได้พบว่ามีระบบสุริยะที่คล้ายคลึงกับระบบของเราแต่เป็นระบบที่มีขนาดเล็กกว่า โดยพวกเขาพบดาวเคราะห์ 2 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 5,000 ปีแสง ซึ่งดาวฤกษ์ดวงนั้นมีมวลเพียงครึ่งของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ที่เห็นก็เล็กกว่าดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

อย่างไรก็ตามหลังจากปรับค่าความแตกต่างของระบบสุริยะที่เล็กกว่าของเรานี้ทีมนักดาราศาสตร์ได้พบว่า ดาวเคราะห์ทั้งสองนั้นโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองด้วยระยะทางที่มีความสัมพันธ์คล้ายๆ กับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

อีกทั้งด้านมวลก็มีความสัมพันธ์ที่เหมือนกัน และการประมาณอุณหภูมิของดาวเคราะห์ใหม่ทั้งสองก็คล้ายคลึงกับดาวก๊าซยักษ์และดาววงแหวนในระบบสุริยะของเราด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น