xs
xsm
sm
md
lg

พบสัญญาณโมเลกุลชีวิตรอบดาวไกลโพ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สเปซด็อทคอม/สเปซไฟลท์นาว/เดลีเมล - นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ พบสัญญาณโมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อน ในแถบฝุ่นรอบดาวฤกษ์อันไกลโพ้น ซึ่งอยู่ระยะสุดท้ายของการสร้างดาวเคราะห์ คาดโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตที่พบอาจเป็นคุณลักษณะสามัญของระบบดาวเคราะห์

จอห์น เดบส์ (John Debes) และอาลิเซีย ไวน์เบอร์เกอร์ (Alycia Weinberger) นักดาราศาสตร์จากสถาบันคาร์เนกี (Carnegie Institution) สหรัฐฯ พร้อมด้วย เกลนน์ ชไนเดอร์ (Glenn Schneider) จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) อาศัยอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตพบการกระเจิงแสงขาวและแสงอินฟราเรดจากแถบฝุ่นรอบดาว HR4796A ซึ่งเป็นดาวฤกษ์อายุราว 8 ล้านปี ที่อยู่ไกลจากโลก 220 ปีแสง โดยสัญญาณที่พบนั้นเกิดจากโมเลกุลคาร์บอนอินทรีย์ที่เรียกว่า "โธลินส์" (tholins) และไม่ปรากฏว่าสเปกตรัมของสัญญาณที่พบนั้นตรงกับสสารสีแดงอย่างเหล็กออกไซด์ด้วย

"จนถึงเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าอะไรทำให้แถบฝุ่นกระเจิงแสง ดังนั้นเพื่อค้นหาโธลินส์แล้ววิธีที่เราทำนั้นนับถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญในความเข้าใจของเรา" เดบส์กล่าว

โธลินส์นั้นไม่สามารถก่อตัวได้เองบนสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากออกซิเจนในชั้นบรรยากาศจะทำลายโมเลกุลเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้สันนิษฐานว่าโมเลกุลดังกล่าวมีอยู่ในยุคเริ่มต้นของโลกเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโมเลกุลชีวภาพที่ก่อเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังพบโธลินส์ได้ในบริเวณอื่นของระบบสุริยะ อย่างเช่นบนดาวหางและดวงจันทร์ไททัน (Titan) ของดาวเสาร์ เป็นต้น

การศึกษาล่าสุดของเขาเหล่านี้เป็นการค้นพบโธลินส์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก โดยทีมวิจัยได้เผยแพร่การค้นพบผ่านจดหมายวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical Journal Letters) ด้วย

ทั้งนี้ดาวฤกษ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสัญญาณก่อเกิดสิ่งมีชีวิตครั้งนี้สว่างกว่าดวงอาทิตย์ 20 เท่าและอยู่ในระยะสร้างดาวเคราะห์ ซึ่งฝุ่นจำนวนมากที่อยู่รอบๆ นั้นเกิดขึ้นจากการชนกันของดาวหางและอุกกาบาตที่โคจรรอบดาวฤกษ์ หากมองจากพื้นโลกขึ้นไปบนท้องฟ้าดาวฤกษ์ที่ว่านี้จะอยู่ในกลุ่มดาวม้าครึ่งคน (centaurus) ทางซีกโลกใต้

แถบฝุ่นรอบดาว HR4796A ได้รับการค้นพบเมื่อปี 2534 ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับนักดาราศาสตร์จำนวนมากที่ได้พบตัวอย่างของระบบดาวเคราะห์ที่อยู่ระหว่างการก่อตัว และฝุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นอาจปกคลุมด้วยสารอินทรีย์ซึ่งอาจส่งโครงสร้างแห่งการก่อเกิดชีวิตนี้ไปยังดาวเคราะห์ที่อาจกำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้ได้

"นักดาราศาสตร์เพียงแค่เริ่มต้นมองหาดาวเคราะห์ที่อยู่รอบดวงดาวซึ่งต่างจากดวงอาทิตย์มาก โดย HR4796A มีมวลและยังร้อนมากกว่าเกือบ 2 เท่า อีกทั้งยังส่องสว่างกว่าถึง 20 เท่าด้วย ซึ่งการศึกษาระบบดาวนี้ได้เพิ่มเบาะแสไปสู่ความเข้าใจในเงื่อนไขที่แตกต่างของการก่อเกิดดาวเคราะห์และอาจจะหมายถึงชีวิตสามารถมีวิวัฒนาการได้" เดบส์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น