xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นเต้น! พบดาวเคราะห์เบบี๋โคจรรอบดาวฤกษ์วัยละอ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/สเปซด็อทคอม - ทีมนักดาราศาสตร์เมืองเบียร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นห่างจากโลกแค่ 180 ปีแสง มีวงโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์อายุน้อยที่สุกสว่างอยู่ตรงใจกลางระบบสุริยะ เชื่อปรากฏการณ์นี้สามารถไขปริศนากำเนิดจักรวาลได้ ทั้งยังหวังเป็นดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมา หากเทียบกับโลกที่มีอายุ 4,500 ล้านปี ดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เปรียบเสมือนเด็กที่เพิ่งหัดเดิน โดยโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ไม่นาน แถม 1 ปี ยังมีไม่ถึง 4 วัน และหวังกันว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการก่อเกิดของระบบสุริยะและดาวเคราะห์เช่นโลกของเรามากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสการค้นพบโลกใบใหม่ในอนาคต

จอห์นนี เซทีอาวาน (Johny Setiawan) และทีมนักดาราศาสตร์ จากหน่วยวิจัยดาราศาสตร์ของสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute for Astronomy) เมืองไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) ประเทศเยรมนี เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นได้ไม่นานนี้มีชื่อว่า ทีดับเบิลยู ไฮเดร บี (TW Hydrae b) คาดว่ามีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะของเราประมาณ 10 เท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ ทีดับเบิลยู ไฮเดร (TW Hydrae) ที่เพิ่งเกิดใหม่และมีอายุเพียง 8-10 ล้านปี ในกลุ่มดาวงูไฮดรา (Hydra)

ทีดับเบิลยู ไฮเดร บี มีช่วงเวลาการโคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 1 รอบ เพียง 3.56 วัน เท่านั้น เพราะอยู่ห่างจากดาวแม่เพียง 6 ล้านกิโลเมตร ขณะที่โลกของเราอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เกือบ 150 ล้านกิโลเมตร และทีมงานที่ค้นพบเชื่อกันว่าดาวเคราะห์นี้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางเศษฝุ่นละอองและก๊าซที่ลอยคละคลุ้งอยู่รอบดาวฤกษ์อายุน้อยที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่ล้านปี

ทีมนักวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลอีกว่า ผลของการสำรวจและการศึกษาสิ่งที่ค้นพบในจักรวาลครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ดาวฤกษ์ดวงใหม่วัยกำลังโตจะทันจัดการกับซากเศษหินดินทรายที่อยู่บริเวณรอบๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไว้ต้อนรับสมาชิกใหม่เสียอีก

"จากการศึกษา สามารถทำนายได้ว่าดาวเคราะห์ดวงใหม่จะค่อยๆ ก่อตัวจนเป็นดาวเคราะห์ที่สมบูรณ์แบบได้ภายใน 10 ล้านปีนี้ และก่อนที่เศษซากต่างๆ ที่ฟุ้งกระจายอยู่โดยรอบในระบบสุริยะนี้จะถูกเก็บกวาดจนเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยลมสุริยะและรังสีจากดาวฤกษ์เสียด้วยซ้ำ" ตามรายงานของทีมวิจัย

ทั้งนี้ ทีมวิจัยสังเกตเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวได้จากกล้องโทรทรรศน์ของสถาบันมักซ์พลังค์ (Max-Planck-Gesellschaft telescope) ตั้งอยู่ที่หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้ของยุโรป* เมืองลาซิญญา (European Southern Observatory, La Silla) ประเทศชิลี และการค้นพบครั้งนี้ยังเป็นการเปิดทางสู่การค้นพบดาวเคราะห์อายุน้อยหรือที่เพิ่งเกิดใหม่ดวงอื่นๆ อีกในอนาคต รวมทั้งค้นหาดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยพบดาวเคราะห์อายุน้อยกว่า 100 ล้านปี ที่โคจรรอบดาวฤกษ์เลย

*หมายเหตุ
"หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้ของยุโรป" (European Southern Observatory) หรือ อีเอสโอ (ESO) เป็นโครงการวิจัยด้านดาราศาสตร์ร่วมระหว่างรัฐบาลของ 14 ประเทศในยุโรป โดยมุ่งศึกษาท้องฟ้าในซีกโลกทางตอนใต้ อีกฟากฝั่งของท้องฟ้าที่ทางยุโรปไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่งทางอีเอสโอได้ติดตั้งอุปกรณ์สังเกตท้องฟ้าที่นับได้ว่าทันสมัยที่สุดในโลกไว้ที่เมืองลาซิญญา (La Silla) กลางทะเลทรายในประเทศชิลี โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เยอรมนี
กำลังโหลดความคิดเห็น