ภาพสำรวจดาวพุธจากยาน "เมสเซนเจอร์" บ่งชี้ดาวเคราะห์ดวงจิ๋วในระบบสุริยะหดลง 1.5 กิโลเมตร จากข้อมูลที่เคยสำรวจกว่า 30 ปีก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า อาจเป็นเพราะแกนกลางของดาว ที่เต็มไปด้วยลาวานั้นเย็นตัวลง และทำให้เกิดวิวัฒนาการบนพื้นผิวดาว
ข้อมูลจากยานเมสเซนเจอร์ (Messenger) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่บินผ่านดาวพุธเมื่อเดือน ม.ค.51 ที่ผ่านมา ได้ส่งกลับถึงโลก ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ดวงเล็กที่สุดในระบบสุริยะนี้ หดลงมากกว่า 1.5 กิโลเมตรจากที่เคยวัดในอดีต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการหดตัวดังกล่าวเป็นผลจากการค่อยๆ เย็นตัวของแกนกลางดวงดาว
"การเย็นตัวของแกนดาวเคราะห์ ไม่เพียงกระตุ้นสนามแม่เหล็กของดาว แต่ยังนำไปสู่การหดตัวของดาวเคราะห์ด้วย และข้อมูลจากการบินผ่านของยานชี้ว่าการหดตัวของดาวนั้นมากกว่าที่คิดไว้อย่างน้อย 1 ใน 3 เท่า" บีบีซีนิวส์รายงานคำอธิบายของ ฌอน โซโลมอน (Sean Solomon) ประธานศึกษาข้อมูลของยาน จากสถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตัน (Carnegie Institution of Washington) สหรัฐฯ
การเข้าใกล้ดาวพุธในระยะ 200 กิโลเมตรของยานเมสเซนเจอร์เมื่อต้นปีนั้น นับเป็นการเข้าใกล้ในครั้งแรก หลังจากยานมาริเนอร์ 10 (Mariner 10) ได้เข้าไปโคจรรอบดาวพุธครั้งสุดท้ายของการโคจร 3 ครั้งเมื่อเดือน มี.ค.2518 ทั้งนี้เมสเซนเจอร์เตรียมเข้าใกล้ดาวพุธทั้งหมด 3 ครั้งก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรในปี 2554
เพียงไม่กี่วันที่ยานเมสเซนเจอร์เฉียดใกล้ดาวพุธนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้พบหลักฐานเกี่ยวกับภูเขาไฟ บนดาวเคราะห์ ที่ยานมาริเนอร์ 10 เคยแสดงนัยไว้ โดยพบหลักฐานของปากป่องภูเขาไฟและเศษชิ้นส่วนสีน้ำตาลที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟบริเวณหลุมคาโลริส (Caloris basin) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลุมอุกกาบาตอายุน้อยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในระบบสุริยะ
นอกจากนี้ยังมีหลุมอุกกาบาตอีกหลายแห่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นหลุมที่มีลาวาอยู่ปริมาณมาก ซึ่งแสดงให้เห็นภูเขาไฟที่ทรงพลังอย่างมาก ในช่วงแรกที่ดาวพุธก่อตัว โดยเชื่อว่าช่วงที่ภูเขาไฟมีการปะทุสูงสุดเมื่อ 3-4 พันล้านปีที่ผ่านมา
อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่เราสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศดาวพุธได้ ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดพลาสมาที่เรียกว่า "ฟิพส์" (FIPS: Fast Imaging Plasma Spectrometer) ซึ่งมีหน้าที่บันทึกข้อมูลซิลิกอน โซเดียมและน้ำที่มีประจุรอบๆ ดาวพุธ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์ข้อมูลของยานเมสเซนเจอร์ยังเชื่อด้วยว่า มีการระเบิดบนพื้นผิวดวงดาวเนื่องจากลมสุริยะ ซึ่งมีลำอนุภาคที่มีประจุจำนวนมาก และการที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์นั้นหมายความว่าดาวพุธย่อมได้รับผลจากลมสุริยะอย่างเต็มที่ ทำให้อะตอมจำนวนระเบิดสู่ห้วงอวกาศและจำนวนมากก็ถูกกักไว้โดยสนามแม่เหล็กของดาวพุธ
ดร.ธอมป์สัน ซัวบูเชน (Dr.Thomas Zurbuchen) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) สหรัฐฯ กล่าวกับบีบีซีนิวส์ว่าสนามแม่เหล็กของดาวพุธเต็มไปด้วยไอออนหลายชนิดทั้งอะตอมและโมเลกุล ทั้งนี้สนามแม่เหล็กของดาวพูธสร้างขึ้นจากแกนกลางของดาวซึ่งมีมวลมากถึง 60% ของดวงดาว และแกนกลางของดาวก็มีผลต่อคุณสมบัติของพื้นผิวอย่างมาก
ขณะที่ ดร.โซโลมอน อธิบายเพิ่มเติมว่าลักษณะโครงสร้างของดาวพุธซึ่งมีทั้งบริเวณที่เป็นผาชันและเป็นหุบเขาขนาดนั้นชี้ให้เห็นว่าเปลือกบนของดาวเคราะห์ดวงนี้ก่อตัวขึ้นระหว่างการหดตัวของพื้นที่รอบๆ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นความสำคัญว่าการเย็นตัวของแกนดวงดาวได้ทำให้เกิดวิวัฒนาการบนพื้นผิวของดาวเคราะห์.