ไซน์เดลี/บีบีซีนิวส์ - นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นกันยกใหญ่เมื่อมีรายงานการค้นพบกาแลกซีจำนวนมากที่คล้ายกับทางช้างเผือกของเรา แต่เก่าแก่กว่าหลายพันล้านปี เชื่อเป็นกลุ่มกาแลกซีรุ่นแรกที่กำเนิดขึ้นหลังจักรวาลก่อเกิดได้ไม่นาน และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์แกะรอยวิวัฒนาการของกาแลกซีทางช้างเผือก
2 นักดาราศาสตร์สหรัฐอเมริกาค้นพบกลุ่มกาแลกซีก้นหอยมากมายกว่า 10 กาแลกซี ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับกาแลกซีทางช้างเผือกที่โลกของเราเป็นสมาชิกอยู่ ทว่ากาแลกซีเหล่านั้นมีขนาดเล็กกว่าราว 10 เท่า มีดาวสมาชิกน้อยกว่า และมีอายุเก่าแก่กว่า โดยคาดว่าน่าจะถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่จักรวาลมีอายุได้เพียง 2 พันล้านปี ซึ่งพวกเขาเปิดเผยการค้นพบนี้ระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน (American Astronomical Society: AAS) ที่จัดขึ้นในเมืองออสติน มลรัฐเทกซัส ตั้งแต่ 7 - 11 ม.ค. 2551
เหล่ากาแลกซีที่พบใหม่นี้เป็นกาแลกซีก้นหอย (spiral galaxy) มีขนาดราว 1 ใน 10 ส่วน มีมวลเพียง 1 ใน 20 ส่วน และมีจำนวนดาวฤกษ์สมาชิกเพียง 1 ใน 40 ส่วน ของกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) เท่านั้น ซึ่งหากสังเกตจากโลกด้วยกล้องโทรทรรศน์ จะมองเห็นเป็นวัตถุที่มีขนาดพอๆ กับดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในจักรวาล และเนื่องด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ว่าจักรวาลนี้มีอายุราว 13.7 พันล้านปี ส่วนกาแลกซีก้นหอยอายุเก่าแก่ที่พบนี้น่าจะมีอายุน้อยกว่านั้นราว 2 พันล้านปี เพราะกว่าที่แสงจากกาแลกซีนั้นเดินทางมาถึงโลกได้ ต้องใช้เวลาถึง 12 พันล้านปี และคาดว่ากาแลกซีเล็กๆ เหล่านี้ยังสามารถวิวัฒนาการกลายเป็นกาแลกซีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับทางช้างเผือกได้
จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายล่าสุดของกาแลกซีที่พบใหม่บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) นักดาราศาสตร์ระบุว่าภายในขอบเขตของกาแลกซีโบราณเหล่านั้นน่าจะมีดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ กำลังก่อตัวรอวันถือกำเนิดเป็นดาวประดับฟ้าอีกจำนวนมาก
"การค้นพบกาแลกซีเหล่านี้นับเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งของการศึกษาวิวัฒนาการของกาแลกซีทางช้างเผือก เปรียบได้กับการค้นพบฟอสซิลชิ้นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการมนุษย์เลยทีเดียว" คำกล่าวของ เอริค เกไวเซอร์ (Eric Gawiser) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ (School of Arts and Sciences) มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส (Rutgers University) มลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐฯ
กาไวเซอร์ได้ร่วมกับคาริล กรอนวอลล์ (Caryl Gronwall) นักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) มลรัฐเพนซิลเวเนีย ศึกษาวิเคราะห์ พบว่า กาแลกซีก้นหอยวัยดึกที่เพิ่งพบใหม่นี้ยังคงอุดมสมบูรณ์และพร้อมที่จะให้กำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ได้อีกมากมาย และดาวฤกษ์สมาชิกของกาแลกซีดึกดำบรรพ์ยังทำให้เกิดประจุของอะตอมไฮโดรเจนรอบๆ ดวงดาวได้ เป็นผลให้เกิดสเปกตรัมในย่านแสงอัลตราไวโอเลต ที่เรียกว่า "ไลแมน แอลฟา" (Lyman alpha) ได้จึงเรียกชื่อกาแลกซีเหล่านี้ว่า "ไลแมน แอลฟา อิมิตเตอร์" (Lyman alpha emitter)
ทั้งนี้ พวกเขาค้นพบกาแลกซีโบราณเหล่านี้และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ 4 ตัว ประกอบกัน ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์บลังโก (Blanco) ที่หอดูดาวเซอร์โร โตโลโล อินเตอร์-อเมริกัน (Cerro Tololo Inter-American Observatory), กล้องโทรทรรศน์แมกเจลแลน (Magellan Telescope) ของหอดูดาว ลาส คัมปานาส (Las Campanas Observatory) ในประเทศชิลี รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescopes) และสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescopes) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)
อย่างไรก็ดี พวกเขาได้รายงานผลการค้นพบครั้งแรกลงในวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal) ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2550 และเหตุที่การค้นพบครั้งนี้เป็นที่ฮือฮามากในหมู่นักดาราศาสตร์เนื่องจากว่า กาแลกซีที่ค้นพบก่อนหน้านี้ล้วนยังไม่มีกาแลกซีไหนที่ทั้งเป็นก้นหอยและเก่าแก่เช่นที่เพิ่งค้นพบนี้ ด้วยลักษณะที่คล้ายกาแลกซีทางช้างเผือก จึงเป็นข้อมูลสำคัญให้นักดาราศาสตร์ศึกษาวิวัฒนาการของทางช้างเผือกได้เป็นอย่างดี และพวกเขาก็จะศึกษาต่อไปด้วยว่ากาแลกซีเหล่านั้นจะมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างไร