xs
xsm
sm
md
lg

เมฆอวกาศขนาดยักษ์มุ่งหน้าระเบิดทางช้างเผือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองแสดงเมฆแห่งสมิธซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็ววินาทีละ 240 กิโลเมตรพุ่งตรงมายังทางช้างเผือก โดยจุดกากบาทสีแดงคือตำแหน่งที่คาดว่าจะเกิดการปะทะดังกล่าว ขณะที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ของเราคือจุดสีเหลืองที่มีชื่อกำกับไว้
บีบีซีนิวส์ - นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยก๊าซไฮโดรเจนที่รวมกันเป็นกลุ่มเมฆขนาดยักษ์กำลังมุ่งหน้าเตรียมชนกาแลกซีทางช้างเผือก ในอีก 20-40 ล้านปีข้างหน้า จะก่อให้เกิดดาวฤกษ์ใหม่ โดยกำแพงก๊าซได้ผ่านขอบกาแลกซีเราเข้ามาแล้ว

กลุ่มเมฆในอวกาศขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า "เมฆแห่งสมิธ" (Smith's Cloud) อาจสร้างปรากฏการณ์จุดพลุอันน่าตื่นเต้นเมื่อพุ่งชนกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเราในอีก 20-40 ล้านปีข้างหน้า ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่ากลุ่มเมฆดังกล่าวมีไฮโดรเจนมากพอที่จะผลิตดาวฤกษ์ลักษณะเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ของเราได้นับล้านดวง เมื่อทำอันตรกริยากันอย่างสมบูรณ์แล้วเมฆดังกล่าวอาจทำให้เกิดการระเบิดเพื่อสร้างดาวใหม่ในกาแลกซีของเราด้วย

ทั้งนี้ในรายละเอียดของงานวิจัยซึ่งนำโดยทีมวิจัยจากหอดูดาวดาราศาสตร์วิทยุแห่งสหรัฐฯ (US National Radio Astronomy Observatory) และมหาวิทยาลัยวิสคันซิน-ไวต์วอเตอร์ (University of Wisconsin-Whitewater) ได้เปิดเผยภายในงานประชุมวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 211 ในเมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

สำหรับเมฆแห่งสมิธนั้นตั้งตามชื่อ เกล สมิธ (Gail Smith) นักดาราศาสตร์อเมริกันหญิงจากมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden University) เนเธอร์แลนด์ ผู้ค้นพบเมื่อปี 2506

แต่จนถึงทุกวันนี้นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจว่า แท้จริงแล้วกลุ่มเมฆอวกาศนี้เคลื่อนที่ออกจากกาแลกซีทางช้างเผือก หรือว่ากำลังเคลื่อนที่เข้าหากันแน่

กระทั่งงานวิจัยล่าสุดซึ่งอาศัยกล้องโทรทัศน์กรีนแบงค์ (Green Bank telescope: GBT) ในเวสต์เวอร์จิเนียสำรวจเมฆดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นกรณีหลังอย่างแน่นอน

เครื่องมือใหม่ของทีมวิจัยยังแสดงให้เห็นขนาดของเมฆหมอกปีศาจในอวกาศนี้ว่ามีความยาว 11,000 ปีแสงและกว้าง 2,500 ปีแสง อีกทั้งยังเคลื่อนที่ตรงมายังกาแลกซีของเราด้วยความเร็วมากกว่า 240 กิโลเมตรต่อวินาทีหรือ 864,000 กิโลเมตรต่อชัวโมง และตั้งมุมกระแทกกาแลกซีทางช้างเผือกที่ 45 องศา เมฆแห่งสมิธนี้กำลังหมุนรอบกาแลกซีของเรา ขณะเดียวกันก็เป็นการหมุนตรงเข้าหาด้วย ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์ได้เห็นว่ากำแพงก๊าซของเมฆนี้ได้กำลังไถเข้ามาในชั้นบรรยากาศกาแลกซีของเราแล้ว

ดร.เฟลิกซ์ ล็อคแมน (Dr.Felix Lockman) ผู้นำการวิจัยครั้งนี้จากหอดูดาวดาราศาสตร์วิทยุแห่งสหรัฐฯ กล่าวถึงเมฆซึ่งอยู่ไกลออกไปโลก 40,000 ปีแสงนี้ว่าหากมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจะเป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจมาก

"เรายังไม่ทราบว่าเมฆนี้มาจากที่ไหน เช่นเดียวกับการโคจรของมันที่ยังสับสนเล็กน้อย แต่เราก็สามารถบอกว่าได้ว่ามันกำลังเริ่มต้นทำอันตรกริยากกับของกาแลกซีทางช้างเผือกของเราแล้ว ซึ่งมันกำลังถูกลากดึงและส่วนเล็กๆ ของมันกำลังตกลงมา แต่ในเวลาเดียวกันเมฆนี้ก็ได้รับแรงดึงโน้มถ่วงของทางช้างเผือกให้พุ่งตรงเข้ามา" ดร.ล็อคแมนกล่าว

เมื่อถึงเวลาที่เมฆแห่งสมิธรวมเป็นหนึ่งเดียวกับกาแลกซีของเรา จะเกิดการปะทะบริเวณที่ห่างไกลจากตำแหน่งของระบบสุริยะของเรา ซึ่งบริเวณที่ถูกปะทะนั้นจะเกิด "คลื่นกระแทก" (shockwave) ในก๊าซที่มีอยู่เดิมของกาแลกซี คลื่นกระแทกนั้นจะทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของการก่อตัวเป็นตัวดาว ซึ่งดวงดาวเหล่านั้นจะมีมีมวลมหาศาล และผ่านช่วงชีวิตไปอย่างรวดเร็ว แล้วระเบิดเป็น "ซูเปอร์โนวา" (supernova)

"เหมือนกันการทิ้งระเบิดแต่คุณก็ยังทำให้เกิดก๊าซใหม่ๆ จำนวนมากซึ่งอาจมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากก๊าซที่มีอยู่เดิม โดยในช่วงเวลาหลายล้านปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นดูคล้ายการเฉลิมฉลองงานปีใหม่ที่พลุขนาดใหญ่ได้ระเบิดออกจากบริเวณนั้น" ดร.ล็อคแมนกล่าวถึงเหตุการณ์ซูเปอร์โนวาที่จะตามมา

ทางด้าน ดร.โรเบิร์ต เบนจามิน (Dr.Robert Benjamin) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคันซิน ไวท์วอเตอร์ กล่าวว่าหากมีการลากดึงเพียงพอและกลุ่มเมฆนี้ได้แตกเป็นส่วนๆ จะทำให้ได้รับผลกระทบจากการชนลดลง แต่ในเวลานี้ดูคล้ายว่ากลุ่มเมฆนี้กำลังเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าบริเวณที่มีดาวสุกสว่างที่เรียกว่า "แถบของกูลด์" (Gould's Belt) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับระบบสุริยะของเรานั้นน่าจะเกิดจากการชนของกลุ่มก๊าซในลักษณที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตนี้

"นับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นจริงๆ ว่ามันเกิดขึ้น ทางช้างเผือกของเราถูกระเบิดอยู่ตลอดเวลา และก็ยังคงมีเศษชิ้นส่วนจากการระเบิดครั้งนั้น เมื่อเกิดการระเบิดระเบิดขึ้นก็จะทำให้เกิดก๊าซใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างดาวใหม่ และเป็นเรื่องน่าสนใจหากเราจะคิดกันเล่นไ ว่าปรากฏการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วใกล้กับดวงอาทตย์ของเรา" ดร.ล็อคแมนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น