xs
xsm
sm
md
lg

"ซูเปอร์โนวา" น้องใหม่ในทางช้างเผือก อายุน้อยสุดแค่ 140 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพจากเอเอฟพีแสดงภาพซ้อนซูเปอร์โนวา G1.9+0.3 ที่บันทึกเมื่อปี 2528 และปี 2550 ส่วนภาพขวาตำแหน่งของซูเปอร์โนวาในกลุ่มดาวคนยิงธนู
นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ พบ "ซูเปอร์โนวา" อายุน้อยสุดเท่าที่เคยพบแค่ 140 ปีอยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือก ระบุหากไม่มีฝุ่นละอองบดบังคงเห็นได้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แต่ประธานสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันแนะ ควรให้ความสำคัญในการศึกษาธรรมชาติของสิ่งที่พบมากกว่า

สตีเฟน เรย์โนลด์ (Stephen Reynold) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาสเตท (North Calorina State University) สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะคาดว่าวัตถุท้องฟ้าที่ชื่อ G1.9+0.3 ซึ่งอยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเราและห่างจากโลก 26,000 ปีแสงคือซากซูเปอร์โนวา (Supernova remnant) ที่อายุน้อยที่สุด

ตามรายงานข่าวของเนชันแนลจีโอกราฟิก (National Geographic) ทีมวิจัยได้บันทึกภาพถ่ายวัตถุดังกล่าวด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์จันทรา (Chanda X-Ray Observatory) เมื่อปี 2550 แล้วเปรียบเทียบกับภาพวัตถุเดียวกันนี้ที่บันทึกเมื่อปี 2528 โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุของหอดูดาวดาราศาสตร์วิทยุแห่งสหรัฐฯ (National Radio Astronomy Observatory)

ผลจากการเปรียบเทียบยืนยันสิ่งที่ทีมวิจัยสันนิษฐานและประมาณได้ว่าซูเปอร์โนวาดังกล่าวมีอายุเพียง 140 ปี และเว็บไซต์ฟิสิกส์โออาร์จี (Physorg.com) ซึ่งรายงานเรื่องเดียวกันยังเพิ่มเติมอีกว่าซูเปอร์โนวาน้องใหม่นี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 16% ภายในเวลา 22 ปี ทำให้ประมาณอายุของซูเปอร์โนวานี้ได้ประมาณนี้หรืออาจจะน้อยกว่าหากอัตราการระเบิดเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งถือว่าเป็นอายุที่น้อยกว่าแคสซิโอเปียเอ (Cassiopeia A) หรือ "แคสเอ" ที่เคยเป็นซูเปอร์โนวาอายุน้อยที่สุดและค้นพบเมื่อศตวรรษที่ 17 อย่างน้อย 200 ปี

"แคสเอครองตำแหน่งซากซูเปอร์โนวาอายุน้อยที่สุดเป็นเวลานาน และได้ยุบตัวลงจนเราได้เห็นสิ่งที่อายุน้อยกว่า" เรย์โนลด์กล่าว และระบุว่าหากไม่มีฝุ่นรบกวนผู้คนคงจะเห็น G1.9+0.3 ปรากฏในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ตั้งแต่ช่วงปี 1870-1900 แล้ว อีกทั้งขณะนี้ซากซูเปอร์โนวานี้ยังคงขยายตัวด้วยอันเร่งอันน่าตกใจ และการค้นพบในครั้งนี้จะปูพื้นสู่ความเข้าใจอันยิ่งใหญ่เรื่องการระเบิดของดาวอีกด้วย

"ตามปกติแล้วเวลาศึกษาซูเปอร์โนวาเก่าๆ เราต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้เห็นแม้การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ซูเปอร์โนวานี้กำลังสว่างขึ้นๆ ซึ่งหมายความว่ามันยังคงเผาไหม้อยู่ การศึกษามันจะช่วยเติมความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกาแลกซี" เรย์โนล์ดอธิบาย

ทั้งนี้ความสว่างของซากซูเปอร์โนวาจะถูกรบกวนได้ง่ายจากก๊าซและฝุ่นต่างๆ ดังนั้นแทนที่จะศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ทางแสงนักดาราศาสตร์จะใช้กล้องโทรทรรศน์ที่รับคลื่นรังสีเอกซ์หรือวิทยุแทน

เชื่อกันว่าซูเปอร์โนวาหรือการระเบิดของดาวช่วยขับเคลื่อนวัฎจักรชีวิตของกาแลกซีหรือดาราจักร โดยจะกระจายธาตุหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีคอสมิคและอนุภาคพลังงานสูงซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการก่อตัวของดาวดวงใหม่ ทั้งนี้นักดาราศาสตร์ต่างฉงนที่พบซากซูเปอร์โนวาอายุน้อยเพียงน้อยนิดในกาแลกซีของเรา โดยประมาณว่าน่าจะมีซูเปอร์ที่มีอายุประมาณ 200 ปีอยู่ราว 30 แห่ง หากแต่ค้นพบเพียงแค่ 12 แห่งเท่านั้น

อีกทั้งเร็วๆ นี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาชื่อ เอสเอ็น 1987เอ (SN 1987A) ซึ่งอายุน้อยที่สุดและระเบิดมาได้เพียง 21 ปี โดยอยู่ในเมฆแมคเจลเลนใหญ่ (Large Magellaenic Cloud) และอยู่ห่างจากโลก 160,000 ปีแสง หากแต่เราศึกษาและมองเห็นซูเปอร์โนวาภายในกาแลกซีทางช้างเผือกของเราเองได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ดีเนชันแนลจีโอกราฟิกยังรายงานความเห็นที่ต่างไปของ ริชาร์ด อาเรนด์ท (Richard Arendt) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) เคานตีบัลติมอร์ และศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ที่ระบุว่า G1.9+0.3 อาจเป็นซูเปอร์โนวาอายุน้อยและก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจนกระทั่งขณะนี้

"ผลที่ได้น่าสนใจและเป็นเรื่องสำคัญแต่ผมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องประหลาดใจเสียทีเดียว" อาเรนด์ทกล่าวและระบุว่านักดาราศาสตรืส่วนใหญ่เชื่อว่ามีซากซูเปอร์โนวาที่อายุน้อยกว่าแคสซิโอเปียเออยู่ราว 10 แห่ง ดังนั้นซูเปอร์โนวาที่เพิ่งค้นพบนี้จึงเป็นการเติมเต็มในส่วนที่คาดว่าจะพบเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการค้นพบธรรมชาติของซากซูเปอร์โนวาที่อายุน้อยซึ่งคาดว่าจะมีอยู่

ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางเรื่องซูเอร์โนวาอย่าง เครก วีเลอร์ (Craig Wheeler) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) ในออสติน สหรัฐฯ และยังเป็นประธานสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน (American Astronomical Society) แนะนำทีมวิจัยว่าตอนนี้ควรจะพุ่งเป้าการศึกษาไปที่ธรรมชาติของซูเปอร์โนวา G1.9+0.3 มากกว่า

"ประเด็นที่เป็นเรื่องสูงสุดสำหรับผมคือทำอย่างไร จึงจะตัดสินได้ว่าสิ่งที่พบนี้คือการระเบิดของดาวแคระขาวหรือเกิดจากการยุบตัวของใจกลางแล้วระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ซึ่งหมายความว่าวัดสนามแม่เหล็กใกล้โดยตรงจะวิธีที่ดีที่สุด หาก G1.9+0.3 เกิดจากการยุบตัวของใจกลางดวงดาว การระเบิดก็น่าจะส่งลำพลังงานอันทรงพลังด้วยความเร็วสูงออกมา หรือไม่ขอบเขตของดวงดาวก็น่าจะถูกจำกีดสนามแม่เหล็ก" วีเลอร์กล่าว

ด้านเรย์โนลด์ได้ระบุถึงยุทธศาสตร์ที่ดีของทีมวิจัยเขาว่าจะใช้เครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์ทุกชิ้นที่ใช้ศึกษา G1.9+0.3 ได้ และทีมก็ไม่เคยได้ศึกษาซากซูเปอร์โนวานี้ในระยะที่เห็นนี้มาก่อน ซึ่งตอนนี้พวกเขาได้ทราบแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วแค่ไหน อันจะเป็นประโยชน์ในการสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งต่อๆ ไป และได้จับตาดูวิวัฒนาการของซูเปอร์โนวาซึ่งค่อนขางเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ยาก .
 ภาพจากเอพีโดยนาซาแสดงถึงซากซูเปอร์โนวา G1.9+0.3 ที่เพิ่งค้นพบในกาแลกซีของเรา (ซ้าย) เป็นภาพที่บันทึกด้วยกล้องวิทยุเมื่อปี 2528 ส่วนภาพขวาเป็นภาพที่บันทึกด้วยด้วยกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์เมื่อปี 2550
ภาพซ้อนของซูเปอร์โนวา G1.9+0.3 ที่บันทึกเมื่อปี 2528 และปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัว (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น