xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจบรรยากาศดาราศาสตร์ไทย หลังเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ถึง 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมวิชาการดาราศาสตร์
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมดาราศาสตร์ระดับภูมิภาคแปซิฟิกถึง 2 ครั้งแล้ว ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยทราบแต่เมื่อทราบแล้วก็อาจมีคำถามตามมาว่าแวดวงดาราศาสตร์ไทยนั้นก้าวไกลแค่ไหน? เหตุใดจึงเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ได้หลายครั้ง? จำนวนนักดาราศาสตร์และงานวิจัยเกี่ยวกับดวงดาวของเรามีมากน้อยสักเพียงใด?

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมดาราศาสตร์ฟิสิกส์ระดับภูมิภาคแปซิฟิกหรือพีอาร์ซีเอสเอ (Pacific Rim Conference on Stellar Astrophysics: PRCSA) ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 5-9 พ.ค.51 โดยการประชุมดังกล่าวเป็นงานระดับเอเชียแปซิฟิกที่เน้นเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับ "ดาวฤกษ" ซึ่งไทยก็เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ขณะที่การประชุมระดับนานาชาติกำลังดำเนินไปนั้น หลายคนก็อาจสงสัยว่างานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของไทยคึกคักสักเพียงใด? และมากเพียงพอที่ทำให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานได้หลายครั้งหรือไม่?

ในแง่บุคลากร รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าไทยมีนักดาราศาสตร์อยู่ราว 20 คน โดยในจำนวนนั้นอยู่ในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์อยู่ 2 คน คือ รศ.บุญรักษาเอง และ ดร.บุษบา คราเมอร์ ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์วิทยุ แต่อนาคตใน 10 ปีคาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 250 คน

"ภายหลังจากที่ไทยมีหอดูดาวเป็นของตัวเองซึ่งจะเป็นหอดูดาวใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็น่าจะมีจำนวนนักดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็กำลังส่งบุคลากรไปเรียนต่อแล้วประมาณ 10 คน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนนอกทุกคนเพราะสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยก็สามารถผลิตบุคลากรได้ถึงระดับปริญญาเอกแล้ว" รศ.บุญรักษากล่าว

ส่วนภาพรวมระดับเอเชียอาคเนย์ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์กล่าวว่า ขณะนี้อินโดนีเซียมีจำนวนนักดาราศาสตร์มากที่สุดซึ่งแม้จะเป็นจำนวนที่พอๆ กับไทยแต่ก็เป็นจำนวนมากกว่า ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียมีหอดูดาวก่อน โดยมีกล้องดูดาวเพื่องานวิจัยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตรซึ่งใหญ่กว่ากล้องที่หอดูดาวสิรินธรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่หากกล้องดูดาวขนาด 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติติดตั้งแล้วเสร็จก็คาดว่าไทยจะมีนักดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น

"เวียดนามน่าจะมีนักดาราศาสตร์ไม่เกิน 10 คน ส่วนลาวก็มีอยู่ 2 คนซึ่งมาเรียนกับผม แต่เขมรไม่น่าจะมี โดยรวมในภูมิภาคนี้ถือว่ามีนักดาราศาสตร์อยู่น้อย มีไม่ถึง 100 คน แต่อีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าไทยจะมีคนมากพอทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน" รศ.บุญรักษากล่าวถึงภาพรวมของจำนวนนักดาราศาสตร์ในเอเชียอาคเนย์

ส่วนประเทศเจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น รศ.บุญรักษาคาดว่าน่าจะมีนักดาราศาสตร์อยู่หลายร้อยคน อังกฤษก็มีหลายร้อยคนเช่นเดียวกัน อเมริกาแน่นอนอยู่แล้วน่าจะมีหลายร้อยและอาจถึงพันคน แต่จีนมีนักดาราศาสตร์เป็นพันคนซึ่งถือว่ามีนักดาราศาสตร์อยู่เยอะที่สุดในโลก

สำหรับงานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของไทยนั้นมีงานเด่นๆ อยู่ 4 กลุ่มคือ งานวิจัยเกี่ยวกับดาวคู่ (binary star) ซึ่งเป็นวิจัยที่ผู้อำนวยการ สดร.ทำควบคู่ไปกับงานบริหาร งานวิจัยเรื่องดาวแปรแสง งานวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ และงานวิจัยด้านภูมิอวกาศ (space weather)

"งานวิจัยดาราศาสตร์ของไทยเหล่านี้มีความเข้มแข็งทั้งหมด และเป็นงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งหมด มีมาตรฐานระดับสากลและมีผลงานตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการนานาชาติ อย่างวารสารแอสโทรโนมี (Astronomy) วารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophisical) เป็นต้น" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.บุญรักษายอมรับว่า โดยภาพรวมแล้วหลายอย่างแวดวงดาราศาสตร์ไทยยังถือว่าน้อย ทั้งบุคลากรที่มีอยู่น้อย การขาดแคลนเครื่องมือและการขาดความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งปัญหาอย่างหลังนั้นเขาคาดว่าการประชุมวิชาการที่จัดขึ้นอยู่นี้จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น

สำหรับการประชุมพีซีเอสอาร์นั้นจัดขึ้นเป็นครั้งที่แล้ว โดยครั้งแรกที่ประเทศจีนเมื่อปี 2528 และจัดต่อเนื่องมาทุก 3 ปี สำหรับไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมดังกล่าวครั้งแรกหลังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2538 ได้ไม่กี่วัน โดยจัดขึ้นที่คณธวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีเกาหลีและฮ่องกงที่เป็นเจ้าภาพจัดงานในปีที่ผ่านๆ มาด้วย และประชุมคัร้งถัดไปจะขึ้นที่หอดูดาวยูนนาน (Yunnan Observatory) สาธารณรัฐประชาชนจีน.
บรรยากาศการประชุมวิชาการ
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น