xs
xsm
sm
md
lg

5-9 พ.ค.นักดาราศาสตร์นานาชาติรวมตัวที่ภูเก็ตประชุมเรื่อง "ดาวฤกษ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการประชุมวิชาการนานาชาติด้านดาราศาสตร์
นักดาราศาสตร์นานาชาติในย่านเอเชีย-แปซิฟิกรวมตัวกันที่ "ภูเก็ต" ประชุม PRCSA ว่าด้วยเรื่อง "ดาวฤกษ์" โดย "รศ.บุญรักษา" ระบุการประชุมจะทำให้ผู้ประชุมได้รับความรู้ใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายงานวิจัย

นักดาราศาสตร์ร่วม 100 คนจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 25 ประเทศเข้าร่วมการประชุมดาราศาสตร์ฟิสิกส์ระดับภูมิภาคแปซิฟิกครั้งที่ 8 (8th Pacific Rim Conference on Stellar Astrophysics: PRCSA 2008) ณ โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ระหว่าง 5-9 พ.ค.51 นี้ โดย รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าการประชุมนี้จัดขึ้นทุก 3 ปี โดยไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นภายหลังปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2538

"ทั้ง 8 ครั้งจัดขึ้นในเอเชียเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางของนักดาราศาสตร์ในแถบนี้ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จีนและการประชุมครั้งต่อไปก็จะจัดขึ้นที่จีน การประชุมนี้จะเน้นทางด้านดาวฤกษ์ จะมีการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับดาวฤกษ์ กระจุกดาว กาแลกซี ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายงานวิจัยระหว่างประเทศ ส่วนไทยก็จะได้ประโยชน์ในการตื่นตัวงานวิจัยดาราศาสตร์และทำให้ต่างประเทศได้รู้จักไทยในบทบาทด้านดาราศาสตร์และเกิดความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์" รศ.บุญรักษากล่าว

การประชุม PRCSA นี้ได้รับงบจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union: IAU) เพื่อใช้สนับสนุนการเข้าร่วมประชุมของนักศึกษาหรือนักวิจัยจากประเทศโลกที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการประชุมนี้มีนักศึกษาทั้งจาก ไทย จีน เกาหลีเหนืออินโดนีเซีย นิวซีแลนด์มาร่วมประชุมด้วย

ดร.สุจินดา โชติพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประธานเปิดการประชุมดาราศาสตร์ระดับภูมิภาคแปซิฟิกกล่าวว่า ดาราศาสตร์มีความสำคัญที่จะดึงให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ได้ เนื่องจากเยาวชนและประชาชนต่างให้ความสนใจดาราศาสตร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะบางครั้งที่เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ บนท้องฟ้า จึงเป็นเครื่องมือที่กระทรวงนำไปใช้เพื่อสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปได้

ด้าน น.ส.รอบิน วูลแลนด์ส (Robyn Woollands) นักศึกษาปริญญาโทจากภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเตอร์เบอรี (University of Canterbury) นิวซีแลนด์ ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมที่ภูเก็ตนี้จะนำเสนอผลงานเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Coronae Borealis) ในเมฆแมกเจลแลน (Magellanic Cloud) ซึ่งศึกษาได้ตลอดในซีกฟ้าใต้

ทั้งนี้วูลแลนส์อาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ 4 ตัวทั่วโลกเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลกัน โดย 2 ตัวอยู่ที่นิวซีแลนด์และที่เหลือคือกล้องโทรทัศน์ซอลต์ (SALT:South African Laerge Telescope) ที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาใต้และกล้องโทรทรรศน์โอเกิล (OGLE: Optical Gravitational Lensing Experiment) ซึ่งตั้งอยู่ที่ชิลี ซึ่งข้อมูลด้านแสงทั้งหมดแต่อนาคตจะใช้กล้องที่แอฟริกาใต้วัดสเปกตรัมของดาวด้วย

"ฉันตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะมาร่วมประชุมในสครั้งนี้ซึ่งเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งที่ 3 ของฉัน ฉันชอบเมืองไทยและรู้สึกประทับใจเมืองไทยมาก คาดว่าจากการประชุมครั้งนี้ฉันจะได้รับประสบการณ์ ได้พบปะผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้เจอเพื่อนๆ ที่เคยรู้จักในการประชุมครั้งก่อนๆ" วูลแลนส์กล่าว

ส่วน น.ส.ศิรามาศ โกมลจินดา นักศึกษาซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่นิวซีแลนด์ ในภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเตอร์เบอรี (University of Canterbury) ได้เดินทางกลับไทยมานำเสนอผลงานเกี่ยวกับกระจุกดาวคู่ โดยศึกษาการเลื่อนสเปกตรัมของดวงดาวและดูวงโคจร โดยดาวจะมีสเปกตรัมเป็นเส้นมืดซึ่งเป็นเส้นดูดกลืนที่เกิดจากบรรยากาศของดาว โดยเส้นดังกล่าวสามารถเลื่อนไปมาได้ตามปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler Effect)

"การที่ดาวมีเส้นที่เคลื่อนที่กลับไป-มาได้ และมีความเร็วจะนำมาตีความเป็นรูปร่างวงโคจรได้ มีข้อดีต่างจากการศึกษาอุปราคา (ปรากฏารณ์ที่ดาวซ้อนกัน) ของดาวคู่ที่อาศัยการศึกด้วยแสง ตรงที่หากมีการเคลื่อนที่ก็สามารถวัดวงโคจรได้เลยแต่วิเคราะห์ได้แค่อัตราส่วนมวล (mass ratio) ขณะที่การศึกษาแบบอุปราคาสามารถวัดขนาดและอุณหภูมิของได้ ดังนั้นบางครั้งก็การวิเคราะห์โดยใช้ทั้ง 2 เทคนิคร่วมกัน หรืออาจใช้เทคนิคอื่น" น.ส.ศิรามาศกล่าว

การประชุมดาราศาสตร์นานาชาติครั้งนี้ยังได้เชิญนักดาราศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูงแต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากประเทศให้มาเข้าร่วม 3 คนคือ เลฟ ยังเกลสัน (Lev Yungelson) จากสถาบันดาราศาสตร์รัสเซีย (Institute of Astronomy) ฮากิม แอล มาลาสัน (Hakim L Malasan) จากสถาบันเทคโนโลยีบันดัง (Institut Tehnologi) อินโดนีเซีย และเชงบัง เควน (Shengbang Qian) จากหอดูดาวยูนนาน (Yunnan Observatory) สาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากนี้ยังนักดาราศาสตร์ที่มีความสามารถอื่นๆ เข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ เฮลมุต แอบท์ (Helmut Abt) จากหอดูดาวคิทท์พีกแห่งสหรัฐฯ (Kitt Peak National Observatory) และ อากิระ อาไร (Akira Arai) จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา (Hiroshima University) ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการประชุมครั้งนี้ยังมีนักดาราศาสตร์ไทยนำเสนอผลงานอยู่น้อยมากประมาณ 5 % เท่านั้น ซึ่ง รศ.บุญรักษาเผยว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าอยากให้คนไทยนำเสนอผลงานมากกว่านี้โดยตั้งเป้าไว้ 25% ทั้งนี้ก็ต้องรอบุคลากรที่ถูกส่งไปศึกษาดาราศาสตร์จบกลับมาเสียก่อน
นักดาราศาสตร์กว่า 100 คนจาก 25 ประเทศมารวมตัวกันที่ภูเก็ตเพื่อการประชุมวิชาการดาราศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องดาวฤกษ์
 รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
น.ส.รอบิน วูลแลนส์
บรรยากาศเลี้ยงต้อนรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น