xs
xsm
sm
md
lg

หลอนจากอวกาศในคืน "ฮาโลวีน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อน "แต่งผี" ไปฉลองวันปล่อยผี "ฮาโลวีน" คืนนี้ มาร่วมชิมลาง "ภาพหลอนๆ" ที่นิวไซแอนทิสต์รวบรวมจากภาพอวกาศกันดีกว่า :)


ไม่ใช่ลอร์ดโวลเดอร์มอร์แห่ง "แฮร์รี่ พอตเตอร์" แต่เป็นภาพกลุ่มก๊าซและฝุ่นของเนบิวลา เอ็นจีซี 1999 (NGC 1999) โดยในภาพจะเห็นดาวอายุน้อยที่สว่างสดใสชื่อว่า "วี 380 โอไรออนิส" (V380 Orionis) ทำให้เนบิวลาดูมีชีวิตชีวา แต่กลุ่มก๊าซและฝุ่นที่เย็นยะเยือกก็หนาแน่นมากจนบดบังแสงสว่างที่อยู่เบื้องหลังเนบิวลาทั้งหมด (ภาพนาซา/กลุ่มฮับเบิลเฮอริเทจ/นิวไซแอนทิสต์)




นี่ก็ไม่ใช่ดวงตาแห่ง "ซอรอน" (Sauron) ใน "ลอร์ด ออฟ เดอะริง" แต่เป็นวงแหวนฝุ่นที่อยู่รอบๆ ดาว "โฟมาโลท์" (Fomalhaut) อันสุกสว่าง ซึ่งบันทึกภาพโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อหลายปีที่ผ่านมา (ภาพนาซา/อีซา)





ภาพแมงมุมแม่ม่ายดำ ซึ่งกำลังวางไข่ซ่อนอยู่ในทางช้างเผือกและรอซุ่มโจมดีเหยื่อที่เข้าใกล้ด้วยรังสีที่ความเข้มสูง คือภาพเนบิวลาแบล็กวิโดว์ (Black Widow Nebula) ที่เป็นกลุ่มฝุ่น ก๊าซและดวงดาว อยู่ไกลจากโลก 10,000 ปีแสง ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศ (นาซา) จับภาพของกระแสฝุ่นที่ดูคล้ายขาแมงมุมจากใจกลางเนบิวลาได้ โดยที่บริเวณใจกลางเนบิวลามีดาวขนาดยักษ์วัยเยาว์กำลังก่อตัวขึ้น แต่วัตถุในอวกาศนี้กำลังแผ่รังสีและอนุภาคที่ทำลายวัตถุดิบในการก่อดาวดวงใหม่ (ภาพนาซา/ห้องปฏิบัติการเจพีแอล-คาลเทค/นิวไซแอนทิสต์)





ภาพเหมือนปีศาจสปาเกตตีลอยฟ้า (Flying Spaghetti Monster) แท้จริงแล้วคือเนบิวลาเอ็นจีซี 1275 (NGC 1275) ที่มีเส้นสายของก๊าซมากมายคล้ายเส้นสปาเกตตี แต่จนถึงทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่า เส้นสายของก๊าซต่างๆ เหล่านั้นคงอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ถูกแรงโน้มถ่วงทำลาย แต่ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ชี้ให้เห็นว่าสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กับหลุมดำใจกลางกาแลกซีช่วยคงเส้นสายเหล่านี้ไว้ (ภาพนาซา/นิวไซแอนทิสต์)



ไม่รู้มีใครกลัวปีศาจแมงกะพรุนบ้างหรือเปล่า แต่นิวไซแอนทิสต์ก็รวมไว้ในภาพปีศาจจากอวกาศ โดยแมงกะพรุนตัวใหญ่สุดในภาพนี้คือกาแลกซีคาร์ทวีล (Cartwheel galaxy) ซึ่งวงแหวนรอบๆ ใจกลางที่หนาแน่นนั้นมีการก่อตัวของดวงดาว และเป็นไปได้ว่า กาแลกซีรูปแมงกะพรุนนี้อาจชนเข้ากับกาแลกซีที่เล็กกว่า ภาพนี้บันทึกด้วยหลายช่วงคลื่น (ภาพจากกล้องอวกาศจันทรา/ฮับเบิล/สปิตเซอร์/นาซา/นิวไซแอนทิสต์)


หลอนอมตะสำหรับภาพใบหน้าบนดาวอังคารซึ่งแท้จริงแล้วคือคลองที่อยู่บนดาวแดงนั่นเอง โดยยานอวกาศไวกิ้ง 1 (Viking 1) ได้บันทึกภาพ "ใบหน้าบนดาวแดง" เมื่อปี 2519 และหลายคนที่ได้เห็นภาพนี้ต่างก็จินตนาการว่าต้องเป็นมนุษย์ดาวอังคารสร้างไว้แน่ๆ (ภาพนาซา)





ตรงตัวสำหรับภาพอวกาศนี้ "เนบิวลาหัวกะโหลก" (Skull Nebula) ซึ่งอยู่ไกลจากโลก 1,600 ปีแสง มองเห็นได้ในกลุ่มดาวซีตัส (Cetus) ซึ่งเป็นชื่อปีศาจทะเล โดยเนบิวลานี้เป็น 1 ใน 1,600 เนบิวลาดาวเคราะห์ที่รู้จัก ซึ่งก่อตัวเมื่อดวงดาวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 5 เท่าเริ่มตายลง แล้วเปลี่ยนเป็นดาวยักษ์แดงก่อนที่จะปล่อยมวลราวครึ่งหนึ่งในรูปกลุ่มก๊าซและฝุ่น และดาวที่อยู่ข้างหลังทางซ้ายมือคือ ดาวตายแล้วที่มีความหนาแน่นสูงหรือดาวแคระขาว สำหรับดาวแคระขาวในเนบิวลานี้เคลื่อนที่ผ่านอวกาศด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ก๊าซที่อยู่รอบๆ เส้นทางที่ดาวแคระขาวผ่านจางหายไป (ภาพหอดูดาวเจมินีใต้/มหาวิทยาลัยอลาสกา/นิวไซแอนทิสต์)





สงสัยฝรั่งจะกลัว "ปลาไหล" วัตถุในอวกาศที่มีรูปร่างคล้ายปลาไหลนี้เป็นภาพน่ากลัวรับฮาโลวีนด้วย โดยวัตถุอวกาศนี้เรียกว่า "ซีจี 4" (CG4) ซึ่งจัดเป็นก้อนกลมดาวหาง (cometary globule) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงดาวหาง (รูปปลาไหล) อยู่ไกลจากโลก 1,300 ปีแสง ใกล้ๆ กับกลุ่มดาวท้ายเรือ ซึ่งกลุ่มดาวดังกล่าวมีชื่อภาษาอังกฤษ "พัพพิส" (Puppis) อันเป็นชื่อเรือของปีศาจ (ภาพมหาวิทยาลัยอลาสกา/หอดูดาวแห่งสหรัฐ(NOAO)/มูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ/นาซา)




สุดท้ายคงไม่มีอะไรขนพองสยองเกล้าเท่ากับการอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติโดยไม่มีห้องส่วมให้เข้าอีกแล้ว และนักบินอวกาศของนาซาก็ได้เผชิญภาวะนั้นถึง 2 ครั้งในรอบปีนี้ เริ่มจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แล้วเกิดปัญหาอีกครั้งเมื่อต้นเดือน ต.ค.นี้ ทำให้ลูกเรืออวกาศต้องอาศัยที่ปลดทุกข์ชั่วคราวจากยานอวกาศที่จอดเทียบท่าอยู่นอกสถานี และวันที่ 14 พ.ย.นาซาจะส่งกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขึ้นไปติดตั้งส้วมเป็นครั้งที่ 2 (ภาพนาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น