xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีไอน์สไตน์พิสูจน์ได้ด้วย“สุริยุปราคา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสดงเส้นทางของแสงเดินทางโค้งงอเมื่อผ่านดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นวัตถุขนาดใหญ่ในอวกาศ ซึ่งตำแหน่งปรากฏของดวงดาว (ตามเส้นประ) เลื่อนไปจากตำแหน่งจริง (เส้นทึบ) (นาซา)
เป็นเรื่องยากจะจินตนาการสำหรับคนทั่วไปอย่างยิ่ง ในการทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันอย่าง “ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป” ของ “ไอน์สไตน์” ที่อธิบายว่าความโน้มถ่วงมีผลต่อ “อวกาศ” และ “เวลา” แต่ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ได้พิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีให้ประจักษ์ต่อสายตาผู้คน

“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” (Albert Einstein) ได้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (Theory of General Relativity) เมื่อปี 2459 ซึ่งอธิบายว่าความโน้มถ่วงส่งผลกระทบต่ออวกาศ (Space) และเวลา (Time) และหนึ่งในผลกระทบนั้นคือการโค้งงอของกาล-อวกาศรอบๆ วัตถุขนาดใหญ่อย่างดวงอาทิตย์ ซึ่งเราพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้ด้วยการสังเกตว่าแสงจากดวงดาวที่อยู่ไกลโพ้นนั้นเดินเป็นเส้นโค้งเมื่อผ่านดวงอาทิตย์หรือไม่ หากเป็นเส้นโค้งแสดงว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้นถูกต้อง แต่การสังเกตนี้ต้องอาศัยช่วงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น

ข้อมูลจาก องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า หลังจากไอน์สไตน์เสนอทฤษฎีดังกล่าวได้ 4 ปี อาร์เธอร์ เอดดิงตัน (Arthur Eddington) นักฟิสิกส์อีกคนได้เดินทางไปพิสูจน์ทฤษฎีนี้ที่เกาะปรินซิปี (Principe Island) ในแอฟริกา เพื่อบันทึกภาพดวงดาวที่อยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ระหว่างเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้จากพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2463 และจากการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนั้นเอดดิงตันและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ได้เห็นตำแหน่งดวงดาวรอบๆ ดวงอาทิตย์เลื่อนออกไปจากตำแหน่งจริง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้นถูกต้อง

ผลจากการพิสูจน์ทฤษฎีในช่วงตะวันดับส่งให้ไอน์สไตน์ดังเป็นพลุแตกเพียงชั่วข้ามคืน หนังสือพิมพ์ต่างประโคมข่าวว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้นคือ “การปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์” จากนั้นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของยังคงได้รับการพิสูจน์และยืนยันความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศศึกษาแสงจากกาแลกซีที่อยู่แสนไกล แล้วปรากฏเป็นวงแหวน เนื่องจากการโค้งงอของแสงเมื่อผ่านอวกาศที่โค้งงอของกาแลกซีที่อยู่ใกล้เรามากกว่า

ทุกวันนี้เราได้ใช้ประโยชน์จากการค้นพบว่า วัตถุขนาดใหญ่ทำให้กาล-อวกาศโค้งงอ อย่างเช่นเทคโนโลยีดาวเทียมจีพีเอส (GPS) นั้น ต้องใช้ทฤษฎีของไอน์สไตน์ทั้งสัมพัทธภาพพิเศษและสัมพัทธภาพทั่วไปเพื่อความแม่นยำของระบบนำทาง เพราะนาฬิกาของดาวเทียมจีพีเอสในอวกาศเดินทางช้ากว่า เนื่องจากการเคลื่อนที่และการปรากฏของนาฬิกานั้นแตกต่างจากนาฬิกาที่อยู่ภายในสนามโน้มถ่วงของโลก
ภาพแสดงการพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์สไตน์จากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ของหนังสือพิมพ์ อิลลัสตาเตด ลอนดอน นิวส์ (Illustrated London News) - ภาพจาก Illustrated London News/Royal Astronomical Society/ไซน์เดลี
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น