ทุกๆ ปี นักวิทยาศาสตร์ในสาขาเคมี ฟิสิกส์ และการแพทย์ จะได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล "โนเบล" อันเป็นเกียรติยศสูงสุดแห่งวงวิชาการ โดยนับแต่ประกาศรางวัลมา 107 ปี มีผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติแล้ว 780 คน
ทว่าทุกๆ ปีก็จะมีเสียงบ่นไล่หลัง เบาบ้างดังบ้าง ว่ายังมีผู้สมควรได้ แต่ถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะปีนี้ เห็นได้ชัดในกรณีของ "โรเบิร์ต กัลโล" นักวิทย์อเมริกันผู้ค้นพบไวรัส "เอชไอวี" แต่ก็พลาดที่จะได้ครองโนเบลแพทย์ ร่วมกับคนอื่นๆ
"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงได้หยิบยกรายงานจาก นิตยสาร "ไซแอนทิฟิก อเมริกัน" (Scientific American) ที่ระบุว่า เมื่อปี 2517 ที่ โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ (Jocelyn Bell Burnell) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ชาวไอร์แลนด์เหนือ พลาดรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ก็มีผู้ออกมาให้ความเห็นว่า "เป็นความอื้อฉาวใหญ่หลวงของวงการวิทยาศาสตร์"
เมื่อปี 2547 ที่ เรย์มอนด์ ดามาเดียน (Raymond Damadian) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ถูกปฏิเสธให้รับรางวัลโนเบล จากการพัฒนาเทคโนโลยีเอ็มอาร์ไอ (MRI) เขาก็ซื้อสื่อหนังสือพิมพ์เต็มหน้า เพื่อต่อต้านการตัดสินดังกล่าว
สำหรับปีนี้ ก็เกิดคำถามขึ้นกับ โรเบิร์ต กัลโล (Robert Gallo) ที่ไม่ได้รับโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ร่วมกับ ลุค มองตากนิแยร์ (Luc Montagnier) และ ฟรังซัวร์ แบร์เร-ซีนอยซี (Francoise Barre-Sinoussi) ในฐานะผู้ค้นพบไวรัสเอชไอวี (HIV)
ทั้งนี้ การดำเนินงานของคณะกรรมการรางวัลโนเบลมีชื่อเสียงในแง่ลบว่า "เป็นความลับ" ดังนั้น คนทั่วไปจึงไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดเบื้องหลังการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี แต่จากประวัติการมอบรางวัลโนเบลที่ผ่านมา ไซแอนทิฟิกอเมริกัน วิเคราะห์ว่า เงื่อนไขการตัด ผู้สมควรได้รับรางวัล คือ
1.จำกัดผู้ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา ไม่เกิน 3 คน
2.เป็นผู้มีผลงาน ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ขาดประสบการณ์ หรือขาดชื่อเสียงในสังคมวิจัย
นอกจากนี้ "ไซแอนทิฟิก อเมริกัน" ยังได้เสนอชื่อ ผู้ที่ถูกคณะกรรมการรางวัลโนเบลเมิน ทั้งที่สมควรจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ จำนวน 10 กรณี โดย "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" เรียบเรียงนำมาให้อ่านกัน ดังนี้
1.ไลส์ ไมต์เนอร์ (Lise Meitner) ถูกตัดออกจากการรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2487 สำหรับการค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (nuclear fission)
ไมต์เนอร์เป็นนักฟิสิกส์ ที่ร่วมงานกับ ออตโต ฮาห์น (Otto Hahn) นักเคมีชาวเยอรมันนับแต่ปี 2450 หลังจากทำงานเป็นเวลาร่วม 30 ปี ไมต์เนอร์ซึ่งเป็นยิวเชื้อชาติออสเตรีย ก็ถูกบีบให้ออกจากเยอรมนี ซึ่งปกครองโดยนาซี เธอจึงย้ายไปสวีเดน แต่ทั้งคู่ก็ยังคงติดต่อเรื่องงาน ผ่านทางจดหมาย และจดหมายของทั้งสอง บ่งชี้ว่า ไมต์เนอร์ได้แนะให้ฮาห์นทำการทดลองที่นำไปสู่การค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน แต่ฮาห์นกลับตีพิมพ์ผลงาน โดยไม่รวมไมต์เนอร์เป็นผู้ร่วมศึกษา ซึ่งเธอเข้าใจว่าเป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้น
นักประวัติศาสตร์ระบุว่า เดิมที ฮาห์นตัดสินใจที่จะให้เครดิตแก่ไมต์เนอร์ เมื่อถึงเวลาที่ปลอดภัย จะทำเช่นนั้น แต่ท้ายสุดแล้ว เขากลับอ้างว่า ได้ค้นพบแต่เพียงลำพัง และเขาก็ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมีเมื่อปี 2487 ส่วนไมต์เนอร์เอง ก็ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งในสาขาเคมีและฟิสิกส์ แต่การตัดสินรางวัล ก็มักมองข้ามเธอไป
ฟิลลิป ชูว์ (Phillip Schewe) ผู้เขียนบทความวิทยาศาสตร์ ของสถาบันฟิสิกส์อเมริกัน (American Institute of Physics) กล่าวว่า การคัดผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบลในหลายๆ ครั้งออกไป เป็นที่ถกเถียง และนักฟิสิกส์ในปัจจุบันจำนวนมาก ก็เห็นพ้องต้องกันว่า ไมต์เนอร์ "ถูกปล้น" รางวัลไป
2.ออสวัลด์ เอเวอรี (Oswald Avery) ไม่ได้รับรางวัลโนเบล แม้ได้รับการเสนอชื่อต่อเนื่องถึง 3 ทศวรรษ จากการพิสูจน์ว่า ยีนสร้างขึ้นจากดีเอ็นเอ ไม่ใช่ โปรตีน
เอเวอรีได้รับการเสนอชื่อ เข้ารับรางวัลโนเบลในช่วงปี 1930 (ประมาณ พ.ศ.2473) 1940 (ประมาณ พ.ศ. 2483) และ 1950 (ประมาณ พ.ศ. 2493) สำหรับผลงานเกี่ยวกับแอนติเจน และช่วงหลัง เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอ แต่ปรากฏว่ากรรมการคนหนึ่ง ดึงดันที่จะไม่ยอมรับว่า ดีเอ็นเอคือสิ่งที่เป็นมากกว่าโครงสร้าง สำหรับสารพันธุกรรมที่ประกอบขึ้นในโปรตีน
เขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย เกี่ยวกับดีเอ็นเอในปี 2487 ขณะอายุได้ 66 และอัลเฟรด เฮอร์ชีย์ (Alfred Hershey) มาร์ธา เชส (Martha Chase) รวมถึง ฟรานซิส คริก (Francis Crick) และ เจมส์ วัตสัน (James Watson) ได้ตีพิมพ์งานวิจัย ที่ให้การยอมรับในผลงานของเอเวอรี ซึ่งเขามีโอกาสที่ดีมาก ที่จะได้รับรางวัลโนเบลในช่วงปี 1950 (2493) แต่ก็เสียชีวิตลงในปี 2498
เช่นเดียวกับไมต์เนอร์ เอเวอรีได้รับการอ้างถึงว่า เป็นตัวอย่างของคนที่สมควรได้รับรางวัลโนเบล แต่ก็ถูกกีดกันโดยมูลนิธิโนเบล (Nobel Foundation)
3.จอห์น บาห์คอลล์ (John Bahcall) ถูกคัดชื่อออกจากการได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2545 สำหรับงานวิจัยเรื่องนิวทริโน (neutrino) บนดวงอาทิตย์
สำหรับรางวัลโนเบลทางด้านฟิสิกส์ทฤษฎีนั้น ไซแอนทิฟิกอเมริกันมองว่า มี "การตุกติก" ได้ง่าย แม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ผู้มีชื่อเสียง ก็ไม่เคยได้รับรางวัลจากผลงานเรื่องทษฎีสัมพัทธภาพ (relativity theory) ที่สั่นสะเทือนฟิสิกส์พื้นฐานของนิวตัน เนื่องจากสิ่งที่เขาทำนายไว้นั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ระหว่างช่วงชีวิตของเขา
ทฤษฎีของบาห์คอลล์ เรื่องนิวทริโนบนดวงอาทิตย์นั้น ได้รับการพิสูจน์ว่าจริง โดยเรย์มอนด์ เดวิส (Raymond Davis) จากห้องปฏิบัติการบรูคฮาเวน (Brookhaven National Laboratory) สหรัฐฯ และการทดลองของ มาซาโตชิ โคชิบา (Masatoshi Koshiba) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ญี่ปุ่น
เดวิสและโคชิบาได้พบจุดมืด 2 แห่งบนดวงอาทิตย์ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2545 พร้อมกับริคาร์โด จิแอคโคนี (Ricardo Giacconi) นักวิจัยสหรัฐฯ ซึ่งทำวิจัยแยกออกไปต่างหาก และได้พบจุดมืดที่ 3 ขณะที่บาห์คอลล์ ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว และไม่มีส่วนร่วมในรางวัล
อย่างไรก็ดี บาร์คอลล์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับผลงานเชิงทฤษฎี ที่ส่งผลกระทบต่อนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และจากประวัติเชิดชูเกียรติของศูนย์อวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ยกย่องให้เขาเป็น "บิดาผู้ก่อตั้ง" โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble)
4.อัลเบิร์ต สชัตซ์ (Albert Schatz) ไม่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ในปี 2495 สำหรับการค้นพบยาปฏิชีวนะ "สเตปโตมัยซิน" (streptomycin)
ขณะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อสชัตซ์อายุได้ 23 ปี เขาได้ร่วมงานในห้องปฏิบัติการของ เซลแมน แวกส์แมน (Selman Waksman) ที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส์ (Rutgers University) สหรัฐฯ โดยแวกส์แมน ขึ้นชื่อในงานด้านจุลชีววิทยา และในช่วงนั้น เขากำลังค้นหายาปฏิชีวินะ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับรักษาโรคฝีในท้อง
ในปี 2486 สชัตซ์ได้พบตัวยาปฏิชีวนะในไก่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เขาได้รับมาจากนักศึกษาอีกคน จึงได้ตีพิมพ์ผลงาน และจดสิทธิบัตรร่วมกับแวกส์แมนเพื่อผลิตยา
ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อแวกส์แมนได้พยายามทำให้เป็นที่ยอมรับว่า เขาค้นพบยาดังกล่าวเพียงลำพัง และเก็บสิทธิเด็ดขาดเหนือสิทธิบัตรยาปฏิชีวนะไว้เพียงลำพัง เมื่อสชัตซ์พบในภายหลัง ก็นำเรื่องฟ้องร้องต่อศาล และศาลก็ตัดสินว่า เขามีส่วนร่วมในการค้นพบยาดังกล่าว และให้เขามีสิทธิร่วมในสิทธิบัตร แต่เรื่องดำเนินไปอย่างน่าเกลียดยิ่งกว่านั้น เมื่อแวกส์แมนได้รับรางวัลโนเบลแต่เพียงผู้เดียว
สชัตซ์และผู้สนับสนุนส่วนหนึ่ง ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการโนเบล เพื่อให้ทราบถึงการมีส่วนร่วมของสชัตซ์ แต่แวกส์แมนมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และสชัตซ์ก็เพียงได้รับการยกย่อง จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ ที่สดุดีเขาด้วยเหรียญรางวัลให้แก่เขาในปี 2537 ซึ่งเป็น 4 ทศวรรษให้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว
5.โรสาลินด์ แฟรงกลิน (Rosalind Franklin) กับงานวิจัยโครงสร้างดีเอ็นเอ ที่ไม่ได้รับรางวัลโนเบล
แม้ว่าแฟรงกลิน จะบันทึกภาพรังสีเอกซ์ของผลึกดีเอ็นเอได้ แต่เธอก็เสียชีวิตลงก่อนที่ เจมส์ วัตสัน (James Watson) และฟรานซิส คริก (Francis Crick) จะเสนอทฤษฎี ที่ช่วยไขปริศนาให้กับผลงานของเธอได้ โดยวัตสันและคริก พร้อมด้วยมัวริซ วิกินส์ (Maurice Wilkins) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ร่วมกันเมื่อปี 2504 หลังจากแฟลงกลินเสียชีวิตได้ 4 ปี
เมื่อปี 2546 วัตสันให้สัมภาษณ์แก่ไซแอนทิฟิกอเมริกันไว้ว่า จริงๆ แล้วพวกเขาทั้ง 4 คน สมควรได้รับรางวัลโนเบล โดยแฟรงกลิน สมควรได้รับรางวัลสาขาเคมี ร่วมกับวิกินส์
6.โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ (Jocelyn Bell Burnell) ถูกกันออกไปจากการรับโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2517 จากการค้นพบ "พัลซาร์ส" (pulsars)
เมื่อครั้งเบอร์เนลล์ เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร เธอได้ตรวจพบพัลซาร์ได้เป็นคนแรก และได้ร่วมกับ แอนโทนี ฮูวิช (Antony Hewish) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ตีพิมพ์ผลการค้นพบลงวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อปี 2511 และในปี 2516 ทั้งสองได้รับรางวัลมิเชลสัน (Michelson Medal) ของสถาบันแฟรงกลิน (Franklin Institute) ร่วมกัน
แต่ปีถัดมา คณะกรรมการรางวัลโนเบล กลับตัดสินให้ฮูวิชได้รับรางวัลร่วมกับ มาร์ติน ไรล์ (Martin Ryle) โดยที่เบอร์เนลล์ ไม่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย ซึ่งส่งผลให้นักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายค นแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง
ขณะที่นักดาราศาสตร์อีกฟาก ก็ออกมาโต้แย้งว่า เบอร์เนลล์เพียงนำข้อมูลของฮูวิช ไปตีความเท่านั้น ทางด้านเบอร์เนลล์เอง ก็ไม่เคยออกมาคัดค้านการถูกตัดชื่อออก แต่รายงานหลายฉบับ ก็ชี้ให้เห็นว่าเบอร์เนลล์ทำอะไรมากกว่า แค่สังเกตการณ์เบื้องต้น
7.วิคเตอร์ แอมบรอส (Victor Ambros) แกรี รัฟกุน (Gary Ruvkun) และเดวิด บอลคอมเบ (David Baulcombe) พลาดรางวัลรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ในปี 2549
ทั้งนี้ ไม่มีใครในวงการชีววิทยาที่ปฏิเสธว่า แอนดรูว์ ไฟร์ (Andrew Fire) และ เครก เมลโล (Craig Mello) คู่ควรกับรางวัลโนเบลในปีดังกล่าว จากผลงานเรื่อง อาร์เอ็นเอไอ (RNAi) แต่หลายคน ก็รู้สึกว่า แอมบรอส รัฟกุน และบอลคอมเบ ได้ทำงานวิจัย ที่ไปสนับสนุนการค้นพบของไฟร์และเมลโล และทั้ง 3 คน ก็สมควรได้รับการยกย่อง ในประวัติศาสตร์ของรางวัลโนเบลเช่นกัน
แน่นอนว่า ปัญหาอยู่ตรงที่คณะกรรมการโนเบลจะเลือกใครจาก 1 ใน 3 คนนี้ และเป็นเรื่องยาก ที่คณะกรรมการโนเบล จะย้อนกลับมามองผลงานที่ได้มอบรางวัลไปแล้ว และในปีนี้ ทั้งสามก็เริ่มต้นกับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล อย่าง รางวัลแฟรงกลิน (Franklin Medal) และรางวัลลาสเกอร์ (Lasker Award) ซึ่งชี้ว่า พวกเขามีโอกาสได้รับรางวัลโนเบลในสักวัน
8.เคธ พอร์เตอร์ (Keith Porter) ผู้พลาดรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ เมื่อปี 2517 สำหรับนวัตกรรมด้านชีววิทยาระกับเซลล์
กรณีของพอร์เตอร์ คล้ายคลึงกับโจเซลีน ที่ถูกมองข้าม ในการได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์เมื่อปี 2517 ร่วมกับ จอร์จ พาเลด (George Palade) อัลเบิร์ต คลูด (Albert Claude) และคริสเตียน เดอ ดูฟ (Christian de Duve) ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของเขา ที่มหาวิทยาลัยรอคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) สหรัฐฯ
แม้ว่าทั้ง 3 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลในปีนั้น จะได้ช่วยพัฒนาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาระดับเซลล์ และนักวิจัยหลายๆ คนก็รู้สึกว่า พอร์เตอร์คือผู้บุกเบิกในการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนสำหรับตัวอย่างทางชีววิทยา และพัฒนาตัวอย่างสำหรับศึกษา ที่มีความสำคัญอย่างมากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ
พอร์เตอร์ได้รับรางวัลอื่นๆ หลายรางวัล ร่วมกับพาเลดและคลูด ได้แก่ รางวัลหลุยซา กรอสส์ ฮอร์วิตซ์ (Louisa Gross Horwitz Prize) และรางวัลวิทยาศาสตร์ (National Medal of Science) ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation) แต่ก็เป็นที่เสียใจแก่วงการอย่างยิ่ง เมื่อเขาไม่ได้รับรางวัลโนเบลก่อนเสียชีวิตในปี 2540
9.ราฟ อัลเฟอร์ (Ralph Alpher) พลาดรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2521 และ 2549
อัลเฟอร์ เริ่มตีพิมพ์ผลงาน ที่วางพื้นฐานสำหรับทฤษฎี "บิกแบง" (big bang) เมื่อปี 2491 ซึ่งเวลานั้น ยังมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า พอจะยืนยันแนวคิดของเขา กระทั่งช่วงปี 1960 (พ.ศ.2503) อาร์โน เพนเซียส (Arno Penzias) และโรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) จากห้องปฏิบัติการเบลล์ (Bell Laboratories) ได้ทดลองทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ ซึ่งช่วยพิสูจน์คำทำนายของอัลเฟอร์ ว่าถูกต้อง หากแต่อัลเฟอร์เอง ได้เปลี่ยนไปสนใจหัวข้ออื่นแล้ว
ยิ่งเป็นที่น่าเสียดายมากขึ้น เมื่อผลงานของเขา ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทฤษฎีบิกแบง กลับถูกมองข้ามจนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งเพนเซียสและวิลสัน ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันเมื่อปี 2521 สำหรับการค้นพบรังสีพื้นหลังเอกภพ (cosmic microwave background radiation: CMB) ก็อ้างว่า พวกเขาไม่จดจำว่า ได้อ่านงานวิจัยใดๆ ของอัลเฟอร์
ในปี 2549 รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ตกเป็นของนักวิจัย 2 คน ที่ขยายผลการค้นพบของเพนเซรียสและวิลสัน ซึ่งช่วยยืนยันสิ่งที่อัลเฟอร์ได้ทำนายไว้
แต่อัลเฟอร์ ก็จากโลกนี้ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นโอกาสที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบล ก็จากไปด้วย แต่เขาก็ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ของวงการวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ นั่นคือ รางวัลวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Medal of Science)
10.โจเซียห์ กิบบ์ส (Josiah Gibbs) และดิมิทรี เมนเดลีฟ (Dimitri Mendeleev) พลาดรางวัลโนเบลสาขาเคมี ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
ทั้งกิบบ์สและเมนเดลีฟ ได้สร้างผลงานที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวงการเคมีในปัจจุบัน โดยกิบบ์สเป็นที่รู้จักดี ในด้านการศึกษาอุณหพลศาสตร์เชิงเคมี (chemical thermodynamics) ตั้งแต่ปีช่วง 2433 แต่เมื่อมีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเคมีในครั้งแรกเมื่อปี 2444 ผู้ได้รับรางวัล กลับเป็นนักเคมีที่ทำงานบนพื้นฐานงานของกิบบ์ส และอีก 2 ปีต่อมากิบบ์สก็เสียชีวิตลง จึงทำให้ขาดคุณสมบัติ ที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ส่วนเมนเดลีฟ ก็เกือบจะได้ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล จากการศึกษาเรื่องตารางธาตุ โดยเขาได้รับการเสนอชื่อในปี 2448 และ 2449 แต่ชื่อเขาก็ตกไป เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าผลงานของเขานั้นเก่า และเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว
ระหว่างนั้นนักเคมีคนอื่น อาทิ อองรี มัวส์ซอง (Henri Moissan) นักเคมีชาวอังกฤษได้รับรางวัลโนเบลในปี 2449 จากการค้นพบธาตุ ที่เมนเดลีฟได้ทำนายว่าจะถูกพบ และเช่นเดียวกับกิบบ์ส เมนเดลีฟมีชีวิตอยู่ไม่นาน หลังจากนั้นและเสียชีวิตลงในปี 2450
เรื่องความขัดแย้งจากการประกาศผลรางวัลโนเบลไม่หมดเพียงเท่านี้ สำหรับปีนี้นอกจากรางวัลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ซึ่งมีเสียงบ่นดังมาจากสหรัฐฯ แล้ว ในสาขาฟิสิกส์เอง ก็มีเสียงคัดค้านดังมาจากอิตาลีเช่นกัน
โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักฟิสิกส์ชั้นนำของอิตาลีได้ออกมาโวยว่า "นิโคลา คาบิบโบ" (Nicola Cabibbo) ก็สมควรได้รับรางวัลร่วมกับผู้ได้รับรางวัลปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ งานของโยอิชิโร นามบุ (Yoichiro Nambu), มาโกโต โคบายาชิ (Makoto Kobayash) และโตชิฮิเดะ มัสกาวา (Toshihide Maskawa) ซึ่งได้รับรางวัลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้นั้น สร้างขึ้นบนพื้นฐานงานของคาบิบโบที่ทำไว้เมื่อปี 2506 โดย คาบิบโบคือคนแรก ที่เข้าใจกลไกปรากฏการณ์ของควาร์ก ซึ่งได้รับการต่อยอดโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้.