อะไรคือคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์? เป็นคำถามที่เยาวชนหลายคนสงสัย และ "ลีออน เลเดอร์แมน" นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ผู้ค้นพบ "บัตทอมควาร์ก" ได้ให้คำตอบแก่เด็กไทยว่า "จงสงสัยและตื่นเต้นกับทุกสิ่งที่ไม่รู้ และอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ"
ศ.ดร.ลีออน เอ็ม เลเดอร์แมน (Prof.Dr.Leon M.Lederman) นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2531 ได้ไขข้อสงสัยของเยาวชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมในค่าย "Thai Science Camp, Thailand" ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 24-27 มี.ค.52 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า ปทุมธานี ระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ "กล้องโทรทรรศน์และกล้องจุลทรรศน์ เครื่องมือแห่งวิทยาศาสตร์ที่สวยงาม" (Telescope and Microscope The tool of beautiful science) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
หนึ่งในตัวแทนเยาวชนชั้น ม.ปลาย ที่เข้าค่ายดังกล่าวจำนวน 160 คน ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า "นักวิทยาศาสตร์" นั้นเป็นอย่างไร ซึ่ง ศ.ดร.เลเดอร์แมน ได้บอกว่านักวิทยาศาสตร์ คือผู้ที่ศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ สนใจว่าโลกนี้มีกลไกอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ของโลกให้ละเอียดอยู่ตลอดเวลา เช่น กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) ที่ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาสำรวจท้องฟ้า
ทั้งนี้คุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ อย่างแรกต้องสงสัยและตื่นตัวกับสิ่งที่ไม่รู้อยู่เสมอ และต้องเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์
ศ.ดร.เลเดอร์แมนบอกด้วยว่า ผู้ที่เป็นแรงบันดาลในการเรียนวิทยาศาสตร์ของเขาคือครูผู้ที่เขาได้ใกล้ชิด และนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีคนหนึ่ง ที่เขามีโอกาสได้พบ ซึ่งเป็นบุคคลที่แสดงความตื่นเต้นต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเสมอ เช่น เมื่อเปิดไฟให้ห้องสว่างขึ้น เขาก็อุทานว่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สวิตซ์อันเดียว ทำให้ห้องมืดกลายเป็นห้องสว่างได้ ซึ่งความตื่นเต้นต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวก็เหมือนความตื่นเต้นเมื่อเราเปิดกล่องของขวัญ ที่เราไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั่นเอง
สำหรับเนื้อหาในการบรรยาย ซึ่ง ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เป็นผู้แปลระหว่างบรรยายนั้น นักฟิสิกส์โนเบลกล่าวว่า ในส่วนของกล้องจุลทรรศน์เป็นสิ่งที่ใช้ศึกษาลึกลงไปถึงอนุภาค โดยศาสตร์เกี่ยวกับอนุภาคได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตศักราชในสมัยกรีก กระทั่งหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้พลังงานสูงเพื่อทำให้อะตอมแตกตัวแล้วดูว่ามีองค์ประกอบอะไรอยู่ข้างใน และทำให้เข้าใจว่าในแต่ละอะตอมจะมีอนุภาคที่เรียกว่า "ควาร์ก" (Quark)
ส่วนเนื้อหาด้านกล้องโทรทรรศน์นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ซึ่งกาลิเลโอได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาเป็นคนแรก และได้ใช้สำรวจท้องฟ้า โดยกล้องดังกล่าวเป็นกล้องที่มองเห็นได้ชัดขึ้นแค่ 3 เท่า ไม่ได้เป็นกล้องที่ดีมาก แต่กาลิเลโอสามารถใช้กล้องนี้ค้นพบอะไรหลายอย่าง ได้ทราบว่าดวงอาทิตย์มีจุดดับ ดาวพฤหัสมีดวงจันทร์หลายดวง และที่สำคัญได้พบว่าดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์
ศ.ดร.เลเดอร์แมนกล่าวว่า สมัยนี้นักดาราศาสตร์มีกล้องดูดาวที่มีประสิทธิภาพมาก และมีมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และดีกว่ากล้องของกาลิเลโอหลายเท่า ซึ่งทำให้เห็นว่า เอกภพกำลังขยายตัวและดวงดาวที่เห็นตอนกลางคืน ก็กำลังวิ่งออกจากเรา
โดยสรุปนักวิทยาศาสตร์คิดว่า จักรวาลขยายจากจุดและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีศูนย์กลางหรือขอบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อในทฤษฎีบิกแบง (Big Bang) ที่กล่าวว่า จักรวาลเกิดขึ้นจากการระเบิดครั้งใหญ่ ณ เวลาหนึ่งในอดีต
"เมื่อแรกเริ่มของเอกภพ ควาร์กมีความร้อนสูงมาก และค่อยๆ เย็นลงแล้วติดกัน จากนั้นก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นกลายเป็นดวงอาทิตย์ ดวงดาวต่างๆ" ศ.ดร.เลเดอร์แมนพร้อมยกตัวอย่างภาพกาแลกซีเกิดใหม่ที่มีอายุประมาณ 10,000 ล้านปี โดยบอกได้จากภาพถ่ายของกาแลกซีที่มีสีแดงจางๆ และจากการศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายๆ ตัวที่มีกำลังขยายมากกว่ากล้องของกาลิเลโอหลายเท่าจะทำให้เราสรุปความรู้ของโลกได้
"โดยสรุปคือ เอกภพมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีสสารมืด มีพลังงานมืด มีหลุมดำเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราจะเห็นอะไรได้ชัดขึ้น หรือเข้าใจได้มากขึ้น ต้องใช้พลังงานที่สูงมากเพื่อเร่งอนุภาค และในเดือน ก.ย.นี้ "เซิร์น" (CERN) จะเดินเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นอะไรที่ชัดมากขึ้น เรายังต้องการนักวิทยาศาสตร์อีกมากเพื่อเข้าใจโลกและจักรวาลของเรา" ศ.ดร.เลเดอร์แมนกล่าว
ภายหลังจากจบบรรยายของ ศ.ดร.เลเดอร์แมน ทีมข่าววิทยาศาสตร์ยังได้สัมภาษณ์ สมเกียรติ มูลใหม่ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม จ.ลำพูน ซึ่งมีความสนใจในวิชาเคมี และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายนี้ เขาบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขามีคำถามที่คาใจในสิ่งที่ ศ.ดร.เลเดอร์แมนบรรยายอยู่เยอะ เช่นการให้พลังงานเพื่อให้สสารแตกตัวนั้น อิเล็กตรอนไปอยู่ที่ไหน หรือควาร์กเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการได้ฟังบรรยายนั้นทำให้ได้แง่คิดว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นต้องไม่เชื่อใครง่ายๆ
ทางด้าน รัชดาภรณ์ จินตประสาท นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้วได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การเข้าค่ายครั้งนี้ รู้สึกเหมือนเป็นกำไรชีวิต และเป็นโอกาสที่หาได้ยาก โดยนักฟิสิกส์โนเบลผู้ได้ตอบคำถามของเธอว่า วิทยาศาสตร์จะช่วยอะไรโลกได้บ้าง หากวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้โลกแย่ลง ซึ่งเขาได้ตอบว่า วิทยาศาสตร์บางแขนงทำให้โลกแย่ลงก็จริง แต่ก็มีวิทยาศาสตร์ที่ช่วยโลกได้ ซึ่งอยู่ที่ว่าเราจะเลือกอะไร
ปัจจุบัน ศ.ดร.เลเดอร์แมนอายุ 87 ปี ทำงานในฐานะศาสตราจารย์ฟิสิกส์ของสถาบันเทคโนโลยีอิลินอยส์ (The Illinois Institute of Technology) สหรัฐฯ โดยผลงานและประวัติการทำงานที่สำคัญๆ คือ การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคเฟอร์มิแห่งสหรัฐฯ (Fermi National Accelerator Laboratory) หรือเฟอร์มิแล็บ และค้นพบอนุภาคมิวออนนิวทริโน (muon neutrino) เมื่อปี 2505 และอนุภาค "บัตทอมควาร์ก" (Bottom Quark) เมื่อปี 2520.