ย้อนอดีตไปเมื่อ 400 ปีก่อน (รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ) ความเข้าใจของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเอกภพได้ถูกปฏิรูปอย่างมโหฬาร เมื่อ Galileo Galilei ใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจท้องฟ้า และภายในเวลาเพียง 2 ปี เขาก็ได้เห็นว่าผิวดวงจันทร์เป็นที่ราบ เทือกเขา และมีหุบเหวมากมาย (ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนในไบเบิลที่ว่า ดวงจันทร์มีผิวเรียบเหมือนลูกบิลเลียด ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้างจะสมบูรณ์ และสวย)
นอกจากนี้เขาก็ยังได้เห็นปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์ (ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และการค้นพบนี้จึงขัดแย้งกับคำสอนอีกเช่นกันว่า ดาวทุกดวงโคจรรอบโลก มิใช่รอบดวงอาทิตย์) และได้เห็นดาวบริวาร 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีที่ต่างก็โคจรรอบดาวพฤหัสบดีมิใช่รอบโลก การเห็นเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตอกย้ำให้ Galileo ว่า โลกมิใช่จุดศูนย์กลางของจักรวาลดังที่เคยเชื่อ กันอีกต่อไป แต่เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ดวงหนึ่งของสุริยะระบบเท่านั้นเอง
เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสี่ศตวรรษก่อน สหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ปี ค.ศ. 2009 เป็นปีสากลแห่งดาราศาสตร์ที่โลกจะจัดงานเฉลิมฉลองการใช้กล้องโทรทรรศน์ปฏิวัติความเข้าใจและความรู้ของมนุษย์ด้านที่เกี่ยวกับเอกภพ
ประวัติศาสตร์ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ใครคือบุคคลแรกที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ แต่ก็ได้พบบันทึกว่า ยุโรปในสมัยเมื่อ 400 ปีก่อน มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยท่อทรงกระบอกยาว และมีเลนส์ติดที่ปลายทั้งสองข้างเป็นเลนส์นูนกับเลนส์เว้า ความอัศจรรย์ของท่ออยู่ตรงที่เวลาคนดูใช้กล้องส่องไปรอบตัว เขาจะเห็นภาพของวัตถุปรากฏเข้ามาใกล้อย่างน่าประหลาดใจ และมีนักประดิษฐ์ชาวเนเธอร์แลนด์คนหนึ่งชื่อ Hans Lippershey แห่งเมือง Middelburg ซึ่งได้ขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของสิ่งประดิษฐ์นี้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2151 แต่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสิทธิบัตรปฏิเสธการให้สิทธิบัตร โดยอ้างว่า สิ่งที่ Lippershey สร้าง ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะใครๆ ก็ใช้กล้องชนิดนี้กันมานานแล้วในลักษณะเป็นกล้องสอดแนม
แต่เมื่อถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2152 คืออีก 14 เดือนต่อมา ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียน แห่งมหาวิทยาลัย Padua ชื่อ Galileo Galilei ก็ได้ใช้กล้องสอดแนมนี้ดูดาวบนท้องฟ้า ในบทบาทนี้อุปกรณ์เด็กเล่นจึงได้กลายเป็นกล้องโทรทรรศน์ทันที เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2153 Galileo ก็ได้เห็นดาวบริวารสี่ดวงของดาวพฤหัสบดี (Johannes Kepler ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ร่วมรุ่นกับ Galileo คือบุคคลแรกที่เรียกดาวบริวารเหล่านั้น ว่า ดวงจันทร์) ดังนั้น Galileo จึงเป็นมนุษย์คนแรกที่เห็นดวงจันทร์นอกเหนือจากดวงจันทร์ของโลก และในปลายปี พ.ศ. 2153 Galileo ก็ได้เห็นปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์อีก ซึ่งการเห็นเหตุการณ์ “ประหลาดเหลือเชื่อ” เหล่านี้ ล้วนขัดแย้งกับความเชื่อของสังคมและคำสอนของสถาบันศาสนา อย่างรุนแรง
หากมองย้อนไปเมื่อ 2350 ปีก่อน Aristotle ผู้เป็นนักปราชญ์กรีกได้เคยสอนว่า โลกประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ส่วนสวรรค์นั้นคือที่พำนักของพระเจ้า และเทพยดา เมื่อถึงสมัยของ Ptolemy (ประมาณ 1,800 ปีก่อน) ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ชาวอิยิปต์ที่ได้แถลงว่า โลกคือศูนย์กลางของเอกภพที่ดาวทุกดวงต่างก็โคจรไปรอบ ๆ และโลกอยู่นิ่ง แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.2086 Nicolaus Copernicus ได้เรียบเรียงตำราเล่มหนึ่งชื่อ On the Revolutions of the Heavenly Spheres ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของเอกภพ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อเรื่องนี้ เพราะทุกคนคิดว่าถ้าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์จริง ดวงจันทร์จะติดตามไปเป็นบริวารโลกได้อย่างไร และถ้าโลกหมุนรอบตัวเองจริง แล้วทำไมสิ่งต่างๆ บนโลกจึงไม่หลุดกระเด็นจากโลก คำถามเหล่านี้เป็นปริศนาที่ทฤษฎีของ Copernicus ไม่มีคำตอบ ดังนั้นทฤษฎีของเขาจึงไม่เป็นที่ยอมรับ
จนกระทั่งถึงยุคของ Tycho Brahe ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Aristarchus ในสมัยกรีกโบราณ ซึ่งได้ถือกำเนิดเมื่อปี 2089 และ Tycho มีความสามารถในการสังเกตและวัดตำแหน่งของดาวต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ จนกษัตริย์แห่งเดนมาร์กทรงโปรดปรานมาก จึงทรงสร้างหอดูดาวให้ Tycho Brahe วัย 30 ปี ทำงานที่เกาะ Hven ซึ่งอยู่ในทะเล Baltic หอดูดาวนี้มีมูลค่าเท่ากับทองคำหนัก 1 ตัน และ Tycho ก็ได้สร้างบ้านให้ชาวเกาะเช่า เพื่อหาเงินมาใช้ในงานดาราศาสตร์ของตน โดยได้ตั้งเงื่อนไขว่า ใครที่ไม่จ่ายค่าเช่าจะต้องถูกจับขัง ในที่สุดชาวเกาะพากันเดือดร้อนมาก จึงได้ถวายฎีกาต่อกษัตริย์ เหตุการณ์ นี้ทำให้กษัตริย์ทรงระงับการอุปถัมถ์ Tycho ทันที และ Tycho ผู้มีข้อมูลดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในสมัยนั้น จึงได้อพยพไป Prague โดยมี Johannes Kepler ผู้เป็นนักดาราศาสตร์หนุ่มชาวเยอรมันที่มาช่วยได้ติดตามไปด้วย ประสบการณ์ดูดาวเป็นเวลานานร่วม 20 ปีของ Tycho ทำให้เขาเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ และความคิดเอง Copernicus เหลวไหล Tycho เชื่อเช่นนี้จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 2144 และ Kepler ก็ได้นำข้อมูลตำแหน่งของดาวอังคารที่ Tycho วัดได้มาเปรียบเทียบกับดาวอังคารที่เขาเห็น
(อ่านต่ออังคารหน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.