นักวิทย์อิตาลี-อังกฤษอยากขุดศพ "กาลิเอโอ" มาตรวจดีเอ็นเอ ระบุหากทราบปัญหาสายตาที่แท้จริงของบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์ อาจใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ช่วยสร้างภาพที่เขาเห็นจันทร์บริวาร "ดาวเสาร์" ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาใหม่
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุกับรอยเตอร์ว่า การตรวจสอบดีเอ็นเอจากศพของกาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 16 จะช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับสุขภาพของบุรุษที่ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งดาราศาสตร์" ผู้นี้ได้
"หากเรารู้แน่ชัดว่าความผิดปกติของดวงตาเขาคืออะไร เราก็ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์สร้างภาพที่เขาเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาใหม่ได้" คำอธิบายของเปาโล กัลลุซซี (Paolo Galluzzi) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ซึ่งเป็นเมืองที่ฝั่งร่างของกาลิเอโอไว้
กาลิเลโอมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 2107-2185 และเป็นที่ทราบกันดีว่า เขามีปัญหาสุขภาพดวงตาเป็นระยะๆ ในชีวิตช่วงหลังและบอดสนิทใน 2 ปีสุดท้ายของชีวิต
"เขามีทั้งช่วงเวลาที่มองเห็นได้ดีและช่วงเวลาที่มองเห็นได้ไม่ดีนัก" ดร.ปีเตอร์ วัตสัน (Dr.Peter Watson) ประธานสถาบันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านจักษุวิทยา (Academia Ophthalmologica Internationalis) และที่ปรึกษาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแอดเดนบรูค (Addenbrooke's University Hospital) ในเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักรกล่าว
ดร.วัตสันผู้ศึกษาลายมือเขียนหนังสือ จดหมายและภาพวาดทางดาราศาสตร์ของกาลิเลโอ สงสัยว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้ล่วงลับน่าจะมีอาการสายตาสั้นข้างเดียว ม่านตาอักเสบซึ่งเป็นการอักเสบในชั้นกลางของตา หรืออาจจะเป็นต้อหิน แต่เขาไม่เชื่อว่ากาลิเลโอจะมีปัญหาสายตาจากการมองดวงอาทิตย์โดยตรง หากแต่น่าจะเป็นผลพวงจากความเจ็บป่วย ซึ่งรวมถึงการถูกกระแทกในวัยเด็กที่ทำให้เขาเกิดภาวะหูหนวกชั่วคราว มีเลือดออกและต้องล้มหมอนนอนเสื่ออยู่เป็นเวลาหลายอาทิตย์
หนึ่งใน "ความผิดพลาด" ที่กัลลุซโซสงสัยว่า กาลิเอโอทำไว้จากความผิดปกติในการมองเห็น คือการที่กาลิเลโอเชื่อว่า ดาวเสาร์ไม่กลมแต่อาจมีด้านข้างที่พอง โดยคาดว่าน่าจะมีความผิดพลาดที่เกิดจากปัญหาสายตาของกาลิเลโอ ผสมกับกำลังขยายของกล้องโทรทรรศน์ที่ไม่มากเพียง 20 เท่า ทำให้เขาเข้าใจผิดว่าวงแหวนของดาวเสาร์คือดวงจันทร์ 2 ดวง
"การทดสอบดีเอ็นเอช่วยให้เราประเมินพยาธิสภาพของดวงตา ที่อาจทำให้การมองของเขาผิดพลาด และถ้าเราพบพยาธิสภาพของเขา เราก็สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่จำลองผลสิ่งที่เขาเห็นและผลการใช้กล้องโทรทรรศน์ชนิดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เราเข้าใกล้สิ่งที่เขาเห็นจริงๆ เราเพียงแค่ร่างสิ่งที่เขาเห็น ถ้าเห็นสิ่งที่เขาเห็นได้จะเป็นเรื่องดีมาก" กัลลุซโวกล่าว
ร่างของกาลิเลโอฝังที่โบสถ์ซานตาครูซบาซิลิกา (Santa Croce Basilica) ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ประมาณ 100 ปีหลังจากเขาเสียชีวิต แต่ก่อนหน้านั้นร่างของเขาถูกซ่อนไว้ในหอระฆังเนื่องจากโบสถ์ปฏิเสธที่จะทำพิธีให้อย่างสมเกียรติ โดยในช่วงชีวิตของเขาต้องตกอยู่ในภาวะกดดันและข้อกล่าวหาว่านอกรีตจากการสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส (Copernicus) ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนตามพระคัมภีร์
กระดูกของกาลิเลโอ ถูกฝังไว้รวมกับศิษย์ชื่อวินเซนโต วิเวียนนี (Vincenzo Viviani) และหญิงนิรนามอีกคน ซึ่งกัลลุซโซกำลังรอการอนุญาตจากโบสถ์ที่ขุดศพของปราชญ์ผู้ล่วงลับขึ้นมา และจากนั้นจะได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งรวบรวมขึ้นจากนักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์และแพทย์เพื่อดูโครงการนี้