จนอีก 5 ปีต่อมาเขาก็พบว่าดาวอังคารมิได้มีวงโคจรเป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์ดังที่ Copernicus คิด แต่เป็นวงรีโดยมีดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดโฟกัสจุดหนึ่ง เขาจึงเรียบเรียงหนังสือชื่อ Astronomica Nova (ดาราศาสตร์ยุคใหม่) ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความจริงนี้ในปี 2152 และถูกตราหน้าว่าลบหลู่สถาบันศาสนา อีกทั้งเป็นพวกนอกรีต ในที่สุดเมื่อกระแสต่อต้านมีมากขึ้น ๆ Kepler ก็ถูกคุมขัง และเสียชีวิตเมื่อปี 2173 (Einstein ในสมัยที่มีชีวิตอยู่ได้เคยกล่าวยกย่อง Kepler ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หาใครเปรียบเทียบได้ยาก)
แต่เมื่อ Galileo ได้อ่านหนังสือที่ Kepler เรียบเรียง เขาเชื่อสิ่งที่ Kepler เขียน เพราะเขาเองก็มีหลักฐานมาสนับสนุนมากมาย จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Dialogue on the Two Chief World Systems ในปี 2175 โดย Galileo ได้ชี้แจงว่า มีคำสอนบางคำสอนในไบเบิลผิด การสรุปเช่นนี้ทำให้สถาบันศาสนาไม่พอใจมาก จึงสั่งให้นำ Galileo มาไต่สวนและสอบสวนที่โรม แล้วตัดสินให้ Galileo ถอนคำพูด รวมถึงให้เลิกสอนความเชื่อที่ผิด ๆ ด้วย แต่ Galileo ก็ยังยืนยันตามความเชื่อของตน เขาจึงถูกกักบริเวณไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกจนเสียชีวิตในปี 2185
ในเวลาต่อมากล้องโทรทรรศน์ที่ Galileo ประดิษฐ์ก็ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ คือแทนที่จะใช้เลนส์นูนและเลนส์เว้าก็ได้ใช้เลนส์นูน 2 เลนส์จึงทำให้สามารถเห็นมุมของภาพได้กว้างขึ้น แต่ดาราศาสตร์ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก จนเวลาผ่านไป 2 ศตวรรษ William Herschel ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่ตนสร้างขึ้น พบดาวยูเรนัสซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ของระบบสุริยะ ในปี 2324 เหตุการณ์นี้ทำให้วงการดาราศาสตร์ตื่นตัวมาก เพราะ Herschel ได้เห็นดาวเคราะห์ดวงใหม่นอกเหนือจากดาว พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ที่มนุษย์ได้เห็นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ กล้องโทรทรรศน์ที่ Herschel ใช้มีเลนส์ขนาดใหญ่จึงสามารถรับแสงได้มาก นอกจากจะเห็นดาวยูเรนัสแล้ว Herschel ยังเห็นกระจุกดาว และเนบิวลาด้วย เขาจึงเห็นเอกภพได้ลึกและกว้างขึ้นมาก
อีกหนึ่งศตวรรษต่อมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการเคลือบแก้ว และการถ่ายภาพทำให้นักดาราศาสตร์สามารถเห็นดาวที่ตาเปล่ามองไม่เห็นได้อีกเป็นจำนวนมาก
ในปี 2402 (รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ Robert Bunsen แห่งมหาวิทยาลัย Heidelberg ได้พบว่าวิธีวิเคราะห์สเปกตรัม (spectrum) ของแสงดาวทำให้เราบนโลกรู้ว่า ดาวที่อยู่ห่างไกลสุดขอบฟ้านั้นมีธาตุอะไรบ้าง
ความพยายามในการให้กล้องโทรทรรศน์สามารถเห็นได้มากขึ้นและละเอียดขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องการกล้องที่มีราคาแพงขึ้น ดังนั้น จึงได้พึ่งพานักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมในการขอเงินมาสร้างกล้องโทรทรรศน์ จนในเวลาต่อมาก็ได้รู้ว่าทางช้างเผือกเป็นเพียงดาราจักร (galaxy) หนึ่งในบรรดาหลายแสนล้านดาราจักรที่เอกภพมี และดาราจักรเหล่านี้กำลังเคลื่อนที่จากกันด้วยความเร็วที่มากขึ้นตลอดเวลา เสมือนว่าในอดีตเมื่อ 13,700 ล้านปีก่อนได้เกิดการระเบิดครั้งมโหฬาร (Big Bang)
ณ วันนี้เทคนิคการบันทึกภาพที่กล้องโทรทรรศน์ถ่ายได้รับการปรับปรุงด้วยอุปกรณ์แบบ charge coupled และใช้เทคโนโลยี adaptive optics ที่สามารถทำให้กล้องโทรทรรศน์บันทึกภาพได้ดี ในขณะที่บรรยากาศรอบกล้องและเหนือกล้องแปรปรวน และกล้องก็มีขนาดใหญ่ขึ้น จนสามารถเห็นหลุมดำ เห็นการระเบิดปล่อยรังสีแกมมา และพบว่าเอกภพมีสสารมืด รวมถึงเห็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนับ 500 ดวงแล้วด้วย
ในเดือนมีนาคมนี้ องค์การบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ (NASA) จะได้นำกล้องโทรทรรศน์ Kepler ขึ้นโคจรในอวกาศเพื่อค้นหาคาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะเหมือนโลก ซึ่งถ้าพบ นั่นก็หมายความว่า ดาวดวงนั้นอาจมีมนุษย์อาศัยอยู่ได้ และถึงมนุษย์วันนี้ยังติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวไม่ได้ แต่เราก็มีเทคนิค spectroscopy ที่ใช้ศึกษาบรรยากาศต่างดาว ซึ่งถ้าพบว่าบรรยากาศนั้นเหมาะสมสำหรับชีวิต เราก็มีโอกาสจะมีเพื่อนต่างดาวทันที
ปีนี้จึงเป็นปีเปิดศักราชการใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ต่างดาว เพื่อให้เราเข้าใจบทบาทของมนุษย์ และเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราจะพบในปีนี้หรือในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงความรู้และความเข้าใจที่เรามีในปัจจุบันเหมือนดังที่ Galileo กับ Kepler ได้เคยทำไว้เมื่อ 400 ปีก่อนหรือไม่และเพียงใด
เวลาเท่านั้น ที่จะตอบคำถามนี้ได้
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.