พบวงแหวนวงใหญ่รอบดาวเสาร์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จับภาพไม่ได้ด้วยแสงปกติ แต่กล้องสปิตเซอร์จับภาพจากสัญญาณอินฟราเรด เป็นวงแหวนบางๆ ที่ขอบวงแหวนอยู่ห่างดาวเสาร์ไกลออกไป 13 ล้านกิโลเมตร และเอียงจากวงแหวนเดิม 27 องศา
เอพีระบุว่า ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) หรือเจ็ทแล็บ (Jet Lab) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้พบวงแหวนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นและน้ำแข็งที่เรียงตัวกันบางๆ อยู่ห่างออกมาจากระบบดาวเสาร์
วงแหวนขอบในอยู่ห่างออกมาประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร ส่วนวงแหวนขอบนอกอยู่ไกลออกไป 13 ล้านกิโลเมตร และวงแหวนทำมุมเอียงกับวงแหวนหลักที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว 27 องศา
วงแหวนดังกล่าว กระเจิงแสงที่ตามองเห็น และไม่สะท้อนออกมากนัก จึงจับภาพไม่ได้ด้วยแสงธรรมดา แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) สามารถบันทึกภาพของวงแหวนดังกล่าว ไว้ด้วยแสงย่านรังสีอินฟราเรด
แม้ฝุ่นของวงแหวนจะมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ คือ -158 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังแผ่รังสีความร้อนออกมา ซึ่งวิทนีย์ คลาวิน (Whitney Clavin) โฆษกของเจ็ทแล็บกล่าวว่า ไม่เคยยมีใครเห็นตำแหน่งของวงแหวนดังกล่าว โดยใช้เครื่องมืออินฟราเรดมาก่อน
ความใหญ่ของวงแหวนดังกล่าว ก็มีที่ว่างมากพอจะบรรจุโลกลงไปได้ถึง 1 พันล้านใบ และก่อนการค้นพบครั้งนี้ ทราบกันว่าดาวเสาร์นั้นมีวงแหวนที่มีชื่อไล่ตามอักษรอังกฤษ A ถึง F และวงแหวนจางๆ อีก 2-3 วงที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ สำหรับการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature)
"อนุภาคของวงแหวนนั้นเล็กมากๆ ดังนั้นวงแหวนนี้จึงบางมากๆ ด้วย และโดยความเป็นจริงแล้ว ต่อให้คุณไปยืนอยู่ในวงแหวน คุณก็ไม่รู้เลยว่านั่นคือวงแหวน ในปริมาตร 1 ลูกบาศก์กิโลเมตรของวงแหวน มีอนุภาคให้เห็นแค่ 10-20 อนุภาคเท่านั้น" ดร.แอนน์ เวอร์บิสเซอร์ (Anne Verbiscer) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ในชาร์ลอตต์วิลส์ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยให้ความเห็นกับทางบีบีซีนิวส์
ทั้งนี้สปิตเซอร์ได้จับภาพการแผ่รังสีอินฟราเรดของอนุภาคฝุ่น ที่มีขนาดเพียง 10 ไมครอน แต่ก็มีขนาดของอนุภาคหลายขนาด บางอนุภาคใหญ่กกว่านั้น หรือบางอนุภาคก็เล็กกว่า
อีกทั้งในการสร้างแบบจำลองยังชี้ให้เห็นว่า แสงอาทิตย์ได้ฉายลงบนเม็ดฝุ่นเหล่านี้ แล้วเกิดเป็นเงาตกลงบน ไอเอเปตัส (Iapetus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่โคจรรอบๆ ดาววงแหวนที่ระยะห่าง 3.5 ล้านกิโลเมตร
สำหรับสมาชิกผู้ร่วมทีมวิจัยกับ ดร.แอนน์ประกอบด้วย ดักลาส แฮมิลตัน (Douglas Hamilton) จากคอลเลจปาร์ก (College Park) มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) และไมเคิล สครูทสกี (Michael Skrutskie) จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) เช่นเดียวกัน