ขณะที่ยาน "ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศ แต่เบื้องล่างได้ทิ้งความเสียหาย ณ ฐานปล่อย เศษอิฐกระจัดกระจายไกล ถึงขอบรั้วไกลเกือบครึ่งกิโล นับเป็นความเสียหายขนาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ระหว่างที่ยานอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยภารกิจครั้งใหม่ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.51 นั้น เลอรอย เคน (LeRoy Cain) หัวหน้าทีมบริหารจัดการภารกิจแห่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) แถลงต่อสื่อมวลชนที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ที่มลรัฐเทกซัสว่า พบความเสียหาย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ฐานปล่อยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ณ แหลมคานาเวอรัล มลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตามรายงานของสเปซดอทคอม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของนาซาพบเศษอิฐและซีเมนส์กระจายอยู่รอบฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39เอ (39A) เศษซากดังกล่าวมาจากร่อง ที่ออกแบบเพื่อจับประกายไฟที่พุ่งออกมาใต้กระสวยอวกาศ ขณะถูกปล่อยขึ้นไป และกระจัดกระจายไปไกลถึงขอบรั้วที่อยู่ห่างออกไป 457 เมตร
เจ้าหน้าที่นาซากล่าวว่า พวกเขาไม่แน่ใจถึงสาเหตุของความเสียหายครั้งนี้ ซึ่งเป็นระดับความเสียหาย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการส่งจรวดก่อนหน้านี้ แต่ก็ได้จัดทีมสืบสวนเพื่อเข้าดูเรื่องนี้แล้ว
"เรากำลังสืบหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุของความเสียหาย ที่มากขนาดนี้และจะได้ลงมือซ่อมแซม" เคนกล่าว
นอกจากเหตุไม่ปกตินี้แล้ว ความเสียหายของฐานปล่อยยังสร้างความกังวลให้นาซา ซึ่งมีฐานปล่อยกระสวยอวกาศเพียง 2 แท่น และทั้งหมดก็เตรียมเพื่อปฏิบัติการครั้งต่อไปที่วางแผนไว้แล้ว โดยเที่ยวบินเอสทีเอส-125 (STS-125) มีกำหนดขึ้นไปซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ในเดือน ต.ค.นี้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งเที่ยวบินถัดไปนั้น ต่างจากเที่ยวบินล่าสุดที่มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศ
ทั้งนี้หากเกิดความเสียหายกับยานอวกาศ ที่มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศ ลูกเรือก็สามารถพักอยู่บนนั้น และรอจนกระทั่งมีอีกเที่ยวบินถูกส่งขึ้นไป ขณะที่ลูกเรือซึ่งมีภารกิจซ่อมแซมกล้องฮับเบิล ไม่มีสถานีพักพิงที่ปลอดภัยเช่นนั้น ดังนั้นนาซาจึงต้องมีกระสวยอวกาศลำที่สองสำรองไว้ ณ ฐานปล่อยจรวด อีกแท่น เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนเรือชูชีพ
สำหรับเที่ยวบินเอสทีเอส-125 นั้น นาซาได้เตรียมปล่อยกระสวยอวกาศลำดับแรกไว้ที่ฐานปล่อย 39เอ (39A) และสำรองกระสวยอวกาศกู้ชีพไว้ที่ฐานปล่อย 39บี (39B) สำหรับยามจำเป็น
ด้วยปฏิบัติการดังกล่าว เคนเผยว่า นาซาจึงต้องการฐานปล่อยจรวดทั้งสองแห่ง ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ถ่ายโอนแทนกันได้ และหากต้องใช้ฐาน 39บี เพื่อใช้ปล่อยยานอวกาศจริงๆ ก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน
ตอนนี้การสับเปลี่ยนฐานปล่อย 39บี จึงเป็นประเด็นพอๆ กับการเตรียมพร้อมของฐานปล่อย เพื่อส่งยานอวกาศแบบมีคนขับเคลื่อนภายใต้โครงการ "คอนสเตลเลชัน" (Constellation program) ขณะเดียวกันลูกเรือภาคพื้นดิน ก็เริ่มต้นดัดแปลงฐานปล่อย 39บี จากฐานสำหรับปล่อยกระสวย เป็นฐานสำหรับปล่อยจรวดเอเรส 1 (Ares I) ซึ่งจะลำเลียงยานโอไรออน (Orion) ขึ้นสู่อวกาศ และครั้งสุดท้ายที่ฐานนี้เปิดใช้งานคือเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.49 เพื่อส่งกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีในเที่ยวบินเอสทีเอส-116
เจ้าหน้าที่นาซากล่าวอีกว่า ทั้งฐานเอและบีนั้น สร้างขึ้นตั้งแต่โครงการอะพอลโล (Apollo) เมื่อราว 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าฐานปล่อยจรวดที่เพิ่งเสียหายนี้ เริ่มเก่าแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็เตรียมสืบสวนหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
ทางด้านเคนก็เผยว่า เขาไม่อาจคาดเดาได้ว่า เหตุที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การส่งกระสวยอวกาศที่ยังเหลืออีก 2 เที่ยวตามกำหนดในปี 2551 นี้ล่าช้าออกไปด้วยหรือไม่ โดยกำหนดส่งกระสวยแอตแลนติส (Atlantis) เพื่อปฏิบัติการปรับปรุงกล้องฮับเบิลในวันที่ 8 ต.ค. และวันที่ 10 พ.ย. สำหรับกระสวยเอนเดฟเวอร์ที่จะขึ้นไปยังสถานีอวกาศ
ส่วนความคืบหน้าของกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีนั้น ขณะนี้ยานได้เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศแล้ว และลูกเรือก็เตรียมที่จะเดินอวกาศ เพื่อติดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบ (Kibo) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) โดยมีไมเคิล ฟอสซัม (Michael Fossum) และ โรนัลด์ กาแรน (Ronald Garan) รับหน้าที่เดินอวกาศ เพื่อตรวจความเสียหายของปีกและฝาครอบยาน แต่พวกเขาต้องเขาไปนอนในห้องพิเศษบนสถานีอวกาศ เพื่อขจัดไนโตรเจนออกจากตัว ก่อนเริ่มเดินอวกาศครั้งแรกเวลา 22.32 น.ของวันที่ 3 มิ.ย.ตามเวลาประเทศไทย.