xs
xsm
sm
md
lg

นาซาเลื่อนซ่อม "ฮับเบิล" หลังพบความเสียหายเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระสวยอวกาศแอตแลนติส จอดเตรียมพร้อมที่ฐานปล่อย โดยมีเอนเดฟเวอร์ จอดเป็นยานสำรอง เพื่อรอลำเลียงนักบินอวกาศขึ้นไปซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิล เดิมกำหนดไว้วันที่ 14 ต.ค.51 แต่ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากพบการทำงานของกล้องขัดข้องเพิ่มเติม และคาดว่าจะปฏิบัติภารกิจได้ในต้นปีหน้า ทำให้เอนเดฟเวอร์ที่รอเป็นยานสำรอง กลายเป็นยานตัวจริง ที่จะใช่ในภารกิจถัดไป (ภาพนาซา/เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์)
นาซาต้องเลื่อนซ่อมบำรุง "ฮับเบิล" ออกไป เป็นต้นปีหน้า หลังพบความเสียหายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพิ่ม ทั้งนี้ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม และตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนใหม่ ที่จะนำขึ้นไปเปลี่ยน

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่เดิมมีกำหนดส่งกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) ขึ้นไปซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ในวันที่ 14 ต.ค.51 นี้ แต่สำนักข่าวเอพีเปิดเผยว่า กำหนดดังกล่าว ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากเกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อคืนวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เมื่อกล้องฮับเบิล ได้หยุดส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับมา

เหตุการณ์ดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อนักบินอวกาศ ที่ต้องรับหน้าที่ในการซ่อมแซมกล้องฮับเบิล และหนึ่งในความน่าหนักใจคือ นักบินอวกาศไม่ได้รับการฝึกฝน เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ส่วนที่เพิ่งเสียหาย และไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า

อีกทั้งระบบคำสั่ง และระบบควบคุมข้อมูลของเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานขัดข้องอย่างฉับพลันและลึกลับ ส่งผลให้กล้องฮับเบิล ไม่สามารถจับข้อมูลและส่งกลับมายังพื้นโลก เพื่อผลิตภาพทางดาราศาสตร์ของอวกาศห้วงลึกได้

ทั้งนี้ นาซาได้ประกาศเลื่อนกำหนดส่งกระสวยอวกาศออกไป อย่างเร็วที่สุดเป็นต้นปีหน้า หรืออาจจะประมาณช่วงเดือน ก.พ.52 โดยแต่ละเดือนที่ต้องเลื่อนออกไปนั้น จะทำให้กล้องฮับเบิล มีต้นทุนความเสียหายที่เพิ่มขึ้น เดือนละประมาณ 340 ล้านบาท

"ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร หากความขัดข้องนี้เกิดขึ้น 2 อาทิตย์หลังปฏิบัติการซ่อมบำรุงกล้องแล้ว สำหรับภารกิจนี้ เราเพียงใส่อุปกรณ์ชิ้นใหม่ 2 ชิ้นเช้าไป แล้วเราก็สามารถยืดเวลาการใช้งานของกล้องออกไปได้ 5-10 ปี หรืออีกนัยหนึ่ง หากเหตุการณ์นี้ จะต้องเกิดขึ้น ก็ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ดีกว่านี้แล้ว" โดยเอ็ด ไวเลอร์ (Ed Weiler) หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างแถลงเลื่อนภารกิจ

ส่วนเพรสตัน เบิร์ช (Preston Burch) ผู้จัดการโครงการกล้องฮับเบิล กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือซ่อมแซมกล้อง ด้วยการเปลี่ยนไปใช้ช่องสัญญาณสำรอง สำหรับระบบคำสั่ง และควบคุมข้อมูลของเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เสียหายนี้ ซึ่งจะทำให้นักสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ ยังคงใช้งานต่อไปได้ โดยต้องใช้เวลา 1-2 อาทิตย์

แม้ความพยายามจะสำเร็จตามที่วิศวกรคาดไว้ แต่เบิร์ชและเจ้าหน้าที่คนอื่น ก็ยังต้องการส่งชิ้นส่วนอะไหล่ ขึ้นไปเปลี่ยน แทนชิ้นส่วนที่เสียหาย เพราะไม่มีทางเลือกหากช่องสัญญาณสำรองทำงานผิดพลาดอีก

"แผนของเราในตอนนี้ คือเลื่อนเวลาส่งออกไป และเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เรายืดอายุการใช้งานกล้องฮับเบิลได้นาน เท่าที่เป็นไปได้ หากเราต้องจ่ายเงิน แล้วได้ความเสี่ยงรวมอยู่ด้วยในปฏิบัติการ เราก็อยากทำให้มั่นใจได้ว่า  เราได้ทำให้ฮับเบิลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เท่าที่ทำได้ เพื่อให้กล้องใช้งานต่อไปได้ 5-10 ปี" ไวเลอร์กล่าว

ส่วนเบิร์ชเสริมว่า ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งได้รับการทดสอบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2544 โดยชิ้นส่วนอะไหล่ยังไม่พร้อมใช้งานจนกว่าจะถึงเดือน ม.ค.52 นั่นหมายความว่า จะส่งกระสวยอวกาศได้ในเดือน ก.พ.

สำหรับภาระในการเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของนักบินอวกาศ ซึ่งได้รับการฝึกเดินอวกาศ เพื่อซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลเป็นเวลา 2 ปี โดยในภารกิจนี้จะมีการเดินอวกาศทั้งหมด 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีช่วงเวลาเดินอวกาศไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือบีบอัดให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมงได้

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเปลี่ยนให้กล้องฮับเบิลไปใช้ช่องสัญญาณสำรองนั้นเป็นกกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากช้องสัญญาณสำรองและชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เปิดใช้งานมาราว 20 ปีแล้ว

"ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของกล้องฮับเบิลเลยทีเดียว" เบิร์ชกล่าว

เจ้าหน้าที่นาซายังระบุด้วยว่า กล้องฮับเบิลไมท่ได้มีปัญหา เพียงแต่ไม่สามารถส่งข้อมูลวิทยาศาสตร์กลับมายังห้องควบคุมภาคพื้นดินเท่านั้น ซึ่งหมายความว่านาซา จะไม่ได้รับภาพถ่ายจำนวนมาก ที่ฮับเบิลบันทึกไว้

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ภารกิจของกระสวยอวกาศแอตแลนติส และลูกเรือทั้ง 7 นี้ จะนับเป็นปฏิบัติการซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลครั้งที่ 5 และครั้งสุดท้าย

ไวเลอร์ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกล้องฮับเบิลล่าสุดนี้ ไม่สามารถเทียบกับเหตุการณ์ที่กระจกของกล้องฮับเบิลร้าวเมื่อปี 2533 ซึ่งทำให้ภาพที่บันทึกได้ไม่คมชัด แต่ปัญหาในครั้งนั้นก็ได้รับการแก้ไข โดยทีมนักบินอวกาศที่ขึ้นไปซ่อมแซมเมื่อปี 2536

สำหรับการส่งกระสวยอวกาศลำดับถัดไป หลังการเลื่อนส่งแอตแลนติสในครั้งนี้คือ การส่งกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ  โดยเอนเดฟเวอร์เตรียมพร้อมอยู่ที่ฐานปล่อยจรวดแล้ว ซึ่งเดิมเตรียมพร้อมไว้ สำหรับเป็นยานกู้ภัยในกรณีที่ส่งยานแอตแลนติสขึ้นไปแล้วประสบปัญหา.
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (นาซา/บีบีซีนิวส์)
ภาพกาแลกซีก้นหอยชนกนัที่บันทึกได้โดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล (ภาพเอเอฟพี)
แผนภาพแสดงหน้าที่การทำงานในส่วนต่างๆ ของกล้องฮับเบิล ทั้งนี้กระสวยอวกาศแอตแลนติสจะขึ้นไปทำภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ โดยอาศัยแขนกลของยานแอตแลนติสจับตัวกล้องแล้วดึงมาที่ฐานสำหรับทำงานซ่อมบำรุง (ภาพบีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น