xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งตกน้ำ-ไฟไหม้ยังกู้ข้อมูล "ดิสก์ไดร์ฟ" ของยานโคลัมเบียได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่น่าเชื่อดิสก์ไดร์ฟของกระสวยอวกาศโคลัมเบียที่ระเบิดกลางอากาศเมื่อ 5 ปีก่อนยังคงเก็บรักษาข้อมูลไว้ได้
เอพี - ทั้งตกน้ำทั้งไฟไหม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังกู้ข้อมูลจาก "ดิสก์ไดร์ฟ" ของยานโคลัมเบียที่ระเบิดไปเมื่อ 5 ปีก่อนได้ ทั้งนี้ส่วนที่เสียคือบริเวณที่ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลแต่ส่วนที่บันทึกข้อมูลลงไปแล้วยังอยู่ดี

"เมื่อเราได้รับชิ้นส่วนนี้มา มันก็มีสภาพเป็นโลหะ 2 ก้อนใหญ่ที่ยึดกันแน่น เราแทบจะบอกไม่ได้เลยว่านั่นคือฮาร์ดไดร์ฟ มันถูกเผาและบริเวณขอบก็ละลาย มันดูค่อนข้างแย่ในแวบแรกที่เห็น แต่เราก็ยังคงพยายาม" คำพูดของจอน เอ็ดวาร์ดส์ (Jon Edwards) วิศวกรผู้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้เสมอจากบริษัทโครล ออนแทรค (Kroll Ontrack Inc.) นอกเมืองมินเนโพลิส สหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงแค่ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะและพลาสติกของฮาร์ดไดร์ฟเท่านั้นที่ถูกเผาจนไหม้เกรียม แต่ส่วนที่ปิดผนึกด้านข้างสำหรับป้องกันสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองก็ถูกเผาไหม้ด้วย ทำให้วัสดุเล็กๆ ที่ฝั่งอยู่ภายในไดร์ฟเสี่ยงต่อการถูกขีดข่วนจากอนุภาคอื่นๆ และถูกทำลายความสามารถในการเก็บข้อมูล 0 หรือ 1 ที่ขึ้นอยู่กับประจุแม่เหล็ก

อย่างไรก็ดีที่แกนกลางของไดร์ฟซึ่งเป็นแผ่นหมุนที่เก็บข้อมูลจริงๆ นั้นไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย ไดร์ฟความจุ 340 เมกะไบต์ได้รับการบันทึกข้อมูลไปเพียงครึ่ง ส่วนที่เสียหายก็เกิดขึ้นบริเวณที่ยังไม่มีการบันทึกข้อมูล เอ็ดวาร์ดอธิบายความโชคดีดังกล่าวว่าเป็นเพราะคอมพิวเตอร์ทำงานโดยใช้ระบบปฏิบัติการดั้งเดิมคือดอส (DOS) ซึ่งไม่ขีดข่วนไดร์ฟเหมือนกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ

หลังทำความสะอาดแผ่นบันทึกข้อมูลด้วยสารละลายเคมีแล้ว เอ็ดวาร์ดนำแผ่นบันทึกดังกล่าวไปใส่ในไดร์ฟที่สร้างขึ้นใหม่ โดยทั้งกระบวนการใช้เวลา 2 วัน และสามารถกู้คืนข้อมูลมาได้ 99% ซึ่งทำให้เขาพออกพอใจมาก สิ่งที่เขากู้ได้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางกลับ

หากแต่เขาไม่สามารถกู้ข้อมูลอีก 2 ไดร์ฟที่พบ เนื่องจากการระเบิดของกระสวยของอวกาศขณะกลับเข้าสู่โลก ทำให้โลหะสูญเสียความสามารถในการรักษาประจุแม่เหล็ก

ฮาร์ดไดร์ฟที่ได้รับการกู้ข้อมูลคืนมานี้ถูกใช้เพื่อเก็บข้อมูลจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ระหว่างภารกิจมรณะของยานโคลัมเบีย (Columbia) โดยข้อมูลในฮาร์ดไดร์ฟส่วนใหญ่ได้ส่งกลับมายังโลกผ่านสัญญาณวิทยุ แต่ข้อมูลที่ยังเหลือเอ็ดวาร์ดก็สามารถกู้ออกมาได้ ทำให้ทีมวิจัยสามารถตีพิมพ์ผลงานการทดลองลงวารสารฟิสิคัล รีวิว อี (Physical Review E)

เช่นเดียวกับเศษซากอื่นๆ ของโคลัมเบียดิสก์ไดร์ฟที่ได้รับความเสียหายนี้ถูกขุดพบโดยบังเอิญ และองค์การบริการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ส่งชิ้นส่วนดังกล่าวไปยังบริษัทโครล ออนแทรคซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการกู้ข้อมูล หลังจาก 6 เดือนของเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

กระสวยอวกาศโคลัมเบียเกิดระเบิดขึ้นขณะกำลังกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2546 ส่งผลให้ลูกเรือทั้ง 7 เสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้โศกนาฎกรรมดังกล่าวเป็นผลมาจากความเสียหายที่ได้รับหลังถูกกระแทกจากโฟมกันความร้อนซึ่งล่วงออกจากถังเชื้อเพลิงภายนอกในวันปล่อยยาน

ยานโคลัมเบีย (Columbia) เป็นกระสวยอวกาศลำแรกของนาซาที่ได้ทะยานสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อ 12 เม.ย.2524 โคลัมเบียนับเป็นยานอวกาศรุ่นบุกเบิกที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ เป็นการยุติยุคการใช้จรวดส่งนักบินอวกาศที่ดำเนินการมานาน 20 ปี

ยานรุ่นเดียวกันนี้หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน 3 ลำ คือ ดิสคัฟเวอรี(Discovery) แอตแลนติส(Atlantis) และเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ซึ่งนาซาก็มีกำหนดปลดระวางกระสวยอวกาศทั้งหมดในปี 2553.
ภายในดิสก์ไดร์ฟอันยับเยิน
ยานโคลัมเบียก่อนทะยานฟ้าครั้งสุดท้าย
โคลัมเบียทะยานฟ้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2546
กำลังโหลดความคิดเห็น