xs
xsm
sm
md
lg

นาซายังไม่แน่ใจ อะไรหลุดและกระแทกยานเอนเดฟเวอร์หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/สเปซด็อทคอม-ลูกเรือเอนเดฟเวอร์ตรวจความเสียหายบนฉนวนกันความร้อนของยานแล้ว หลังพบชิ้นส่วนประหลาดหลุด และอาจกระแทกเข้ากับจมูกยานขณะกำลังทะยานขึ้นฟ้า เพื่อนำห้องแล็บอวกาศสัญชาติญี่ปุ่นขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ

หลังจากที่ยานอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทะยานขึ้นฟ้าไปเพียง 10 วินาที เมื่อวันที่ 11 มี.ค.51 กล้องวิดิโอที่ติดด้านนอกยานก็บันทึกภาพชิ้นส่วนปริศนาที่หลุดออกมาจากยานไว้ได้ แต่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวกระแทกเข้ากับกระสวยอวกาศหรือไม่

ไมค์ โมเสส (Mike Moses) ผู้อำนวยการการบินศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในเมืองฮุสตัน มลรัฐเทกซัส ปฏิเสธที่จะให้ตรวจสอบแหล่งที่มาตลอดจนขนาดของเศษซากต้องสงสัยดังกล่าว โดยจะไม่มีการตรวจสอบว่าวัตถุปริศนานั้นคืออะไร แต่เขาเน้นว่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวิเคราะห์วิถีที่ผ่านเข้ามาแทน

"ไม่น่าจะเป็นชิ้นส่วนใดๆ ที่มาจากตัวยานเองเลย แต่ก็บอกไม่ได้เช่นกันว่ามันกระแทกเข้ากับตัวยานหรือไม่" โมเสสกล่าวหลังชมภาพวิดิโอที่บันทึกไว้

"เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มการคำนวณ ซึ่งเรามีภาพวีดิโออยู่ ทำให้อย่างน้อยเรามีภาพถ่ายหลายต่อหลายภาพที่ช่วยให้วิเคราะห์วิถีที่มาของมันได้" เขากล่าวพร้อมแสดงความมั่นใจว่า แม้เศษซากที่กล่าวถึงจะกระแทกเข้ากับส่วนจมูกของยานจริง แต่ไม่อาจทำให้เกิดความเสียหายอะไรมากนัก เพราะในเวลานั้น การเคลื่อนที่ของยานยังช้าอยู่

อย่างไรก็ดี ในวันแรกของการเดินทางลูกเรือทั้ง 7 ของเอนเดฟเวอร์กำลังยุ่งอยู่กับการปรับตัวเข้ากับสภาพไร้แรงโน้มถ่วง แต่เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดมินิค แอล กอรี (Dominic L. Gorie) ผู้บังคับการบิน, เกรกอรี เอช. จอห์นสัน (Gregory H. Johnson) นักบินนาซา และทาคาโอะ โดอิ (Takao Doi) วัย 53 ปีจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) เพิ่งนำเซ็นเซอร์และกล้องบันทึกภาพที่ติดกับแขนกลของยานออกตรวจเก็บภาพฉนวนกันความร้อนที่ใต้ท้องยาน จมูก และขอบปีกทั้ง 2 ข้าง

"ที่ปลายของแขนกลจะมีระบบเซ็นเซอร์สารพัดชนิด และมีกล้องบันทึกภาพอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตรวจหาความเสียหายใดๆ ได้แม้ว่าจะมีขนาดเล็กจิ๋วแค่ 1 ใน 10 นิ้วก็ตามที" โดอิกล่าว ก่อนเผยว่าภารกิจที่กินเวลาไปถึง 6 ชั่วโมงนี้ยาวนานและซับซ้อนจริงๆ

ส่วนภาพถ่ายเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญภาคพื้นดิน เปรียบเทียบกับภาพถ่ายก่อนขึ้นบินเพื่อตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฉนวนกันความร้อน และดูว่ายานยังมีสภาพดีพอจะกลับสู่พื้นโลกได้หรือไม่ เนื่องจากฉนวนกันความร้อนจะเป็นตัวป้องกันยานจากความร้อนสูงขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกครั้ง

ทั้งนี้ หลังโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) เมื่อปี 2547 ซึ่งคร่าชีวิตลูกเรือทั้ง 7 เนื่องจากฉนวนกันความร้อนชำรุดไม่สามารถเผชิญกับความร้อนสูงจนยานระเบิด และพลอยส่งผลให้ภารกิจกระสวยอวกาศต้องหยุดนิ่งถึง 2 ปี ทำให้การตรวจสอบที่ว่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทีเดียว

"ประมาณช่วงเช้าวันที่ 14 มี.ค.(ตามเวลาประเทศไทย) เราจะทราบว่าสภาพของยานตอนนี้เป็นอย่างไร ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นแล้วยังไม่พบอะไรน่าเป็นห่วง" โมเสสระบุ

กลับกันกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งยังพบว่ามีโฟมหลุดออกมาจากถังเชื้อเพลิงขณะปล่อยยานไป 83 วินาที โดยกอรีเผยหลังตรวจหาความเสียหายบนฉนวนกันความร้อนว่า พวกเขาพบร่อยรอยของเศษวัตถุที่มีศักยภาพทำอันตรายแก่ตัวยานได้ ซึ่งกระแทกเข้ากับระบบจรวดขับเคลื่อนกระสวยอวกาศ

"เรารู้ว่าทุกคนกำลังจับตาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตอนนี้ทุกอย่างยังปกติดี" กอรีซึ่งมีประสบการณ์บินมาก่อนหน้า 3 ครั้งกล่าว

ภารกิจของกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ในครั้งนี้ นอกจากการสำรวจฉนวนกันความร้อนของยานแล้ว ลูกเรือทั้ง 7 ยังต้องเตรียมพร้อมกับการเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ในเวลาประมาณ 10.25 น.ของวันที่ 13 มี.ค. และจะต้องตรวจชุดที่สวมใส่สำหรับออกไปเดินอวกาศ รวมไปถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาว่าไวรัสมีพฤติกรรมและเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่ออยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง

ภารกิจกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ส่งห้องแล็บอวกาศ "คิโบ" (Kibo) ของแจกซา ซึ่งเป็นห้องแล็บอวกาศใหญ่ที่สุดบนไอเอสเอสแล้ว ระหว่างใช้ชีวิต 16 วันบนไอเอสเอส พวกเขายังจะนำส่งชิ้นส่วนแขนกลสัญชาติแคนาเดียนที่ชื่อ "เด็กซ์เทอร์" (Dextre) จำนวน 2 แขนไปติดตั้งบนไอเอสเอสเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเดินอวกาศด้วย.



กำลังโหลดความคิดเห็น