xs
xsm
sm
md
lg

อุกกาบาตในเปรูประหลาดกว่าที่คาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี - นักธรณีวิทยาเผยอาจต้องเปลี่ยนแนวคิดและทฤษฎีอุกกาบาตพุ่งชนโลก หลังศึกษาหลุมอุกกาบาตที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในเปรู พบร่องรอยของอุกกาบาตที่พุ่งตกลงมาด้วยความเร็วสูง แล้วสลายกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เตือนให้ระวังอุกกาบาตมีโอกาสพุ่งเข้าใส่โลกได้หลากหลายรูปแบบกว่าที่คิด

เมื่อราวกลางเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เกิดเหตุอุกกาบาตตกในเมืองคารานคัส (Carancus) ในรัฐอองเดร (Andre) ประเทศเปรู บริเวณชายแดนใกล้กับประเทศโบลิเวียประเทศเปรู ส่งผลให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ราว 15 เมตร และมีประชาชนละแวกใกล้เคียงป่วยนับร้อย ล่าสุดนี้นักธรณีวิทยาออกมาเผยผลการศึกษาหลุมอุกกาบาตดังกล่าวพบว่าอุกกาบาตลูกนั้นพุ่งเข้ากระแทกพื้นโลกอย่างแรงและด้วยความเร็วมากกว่าที่คาด

ปีเตอร์ ชูลต์ซ (Peter Schultz) นักธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) มลรัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาระหว่างการประชุมด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ (Lunar and Planetary Science Conference) ที่ลีกซิตี (League City) มลรัฐเทกซัส สหรัฐฯ ว่า ในทางทฤษฎีแล้ววัตถุที่เป็นหินน่าจะถูกเผาไหม้กลายเป็นจุลได้ในชั้นบรรยากาศ ก่อนที่จะตกลงมาสู่พื้นผิวโลก ทว่าอุกกาบาตดังกล่าวที่ตกในเปรูกลับไม่เป็นเช่นนั้น และยังตกลงมากระแทกพื้นโลกด้วยความเร็ว 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

"เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อุกกาบาตจะเคลื่อนที่ช้าลง และตกลงสู่พื้นโลกในที่สุด ซึ่งมันจะทำให้เกิดหลุมที่มีลักษณะเหมือนบ่อ จะไม่เหมือนปากปล่องภูเขาไฟ และหากเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นลำธารมาก่อน ก็จะทำให้น้ำใต้ดินแทรกซึมออกมาในหลุมนั้นได้รวดเร็ว แต่อุกกาบาตดังกล่าวเคลื่อนที่เร็วกว่าที่ควรจะเป็นถึง 40-50 เท่า" ชูลต์ซเผย

ชูลต์ซเสนออีกว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เกี่ยวกับความน่าจะเป็นในลักษณะต่างๆ ที่วัตถุในอวกาศมีโอกาสพุ่งเข้าชนโลก อีกทั้งยังบอกว่ากรณีที่มีประชาชนป่วยหลังจากไปยังบริเวณหลุมอุกกาบาตนั้นก็มีรายงานว่าป่วยจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกินความเป็นจริงไปสักหน่อย ซึ่งเขาคาดว่าจริงๆ แล้วคนเหล่านั้นไม่ได้ป่วยหรอก ทว่าเป็นอาการของคนตื่นเต้นประหลาดใจมากกว่า

ทั้งนี้ ทีมของชูลต์ซได้เดินทางไปตรวจสอบหลุมอุกกาบาตนั้นด้วย ซึ่งค่อนข้างเลอะเทอะและไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากอุกกาบาตตกลงมาอย่างเร็วและหมุนวนก่อนสงบนิ่ง

"มันไม่เป็นอย่างที่เราคาดคิดไว้แต่แรก และยังขัดแย้งกับสิ่งที่เราเคยเข้าใจมาก่อนหน้าว่าอุกกาบาตหินจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความเร็วที่สูงมาก, ชิ้นส่วนที่ไม่อาจผ่านสิ่งกีดขวางบริเวณที่ความดันสูง พุ่งผ่านอากาศด้วยความเร็วสูงหรือที่เรียกว่า "ช็อคเวฟ" (shock wave) ไปได้" ชูลต์ซ กล่าว

"อุกกาบาตลูกนี้น่าจะมีรูปร่างเพรียวมาก จนทำให้สามารถแทรกผ่านชั้นบรรยากาศของโลกได้อย่างดียิ่ง รวดเร็วกว่าวัตถุอื่น" ชูลต์ซเผย ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าอาจจะเหมือนฝูงห่านที่จะบินไปด้วยกันเป็นรูปตัววี (V-shaped flight)

"คุณอาจจะต้องแปลกใจว่ายังมีทะเลสาบหรือสระน้ำอีกมากมายที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้ามาชนในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก เพราะว่าเมื่อมันกระแทกเข้ากับพื้นโลก มันก็สลายหายไปกลายเป็นอากาศธาตุ" ชูลต์ซกล่าว และยังบอกอีกว่าทฤษฎีนี้อาจช่วยอธิบายการเกิดหลุมอุกกาบาตมากมายบนดาวอังคารได้

ด้านทีมวิจัยของศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) เมืองฮุสตัน เปิดเผยในงานประชุมว่า พวกเขาได้นำตัวอย่างชิ้นส่วนของหินอุกกาบาตดังกล่าว 2 ชิ้นไปศึกษา พบว่าไม่เหมือนกับหินอุกกาบาตที่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน แม้กระทั่งหินบนดาวอังคาร


กำลังโหลดความคิดเห็น