xs
xsm
sm
md
lg

ชักสงสัย "ร่องรอยน้ำไหล" บนดาวแดง อาจเป็นแค่ทางของกรวดทราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี/ไซน์เดลี - นาซาเผยภาพร่องรอยคล้ายน้ำไหลบนดาวอังคารทีไรเป็นได้ฮือฮาทุกครั้ง แต่นักธรณีวิทยาก็อดสงไม่ได้ว่าร่องรอยที่เห็นจะเป็นทางเดินของน้ำอย่างที่คิดหรือไม่ เลยหาทางพิสูจน์ด้วยการสร้างแบบจำลองแสดงการไหลของเม็ดดินทรายเปรียบเทียบ ปรากฏว่าร่องรอยที่ตื่นเต้นช่างคล้ายกับเม็ดดินทรายที่ไหลทะลักจากที่สูงลงที่ต่ำมากกว่าจะเป็นธารน้ำอย่างที่เชื่อกัน

ทีมนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐอเมริกา เผยถึงผลการศึกษาจำลองการก่อเกิดร่องรอยบนพื้นผิวดาวอังคารอันเนื่องมาจากของเหลวและของแข็งในคอมพิวเตอร์เทียบกับภาพถ่ายขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ระบุว่าเป็นร่องรอยของสายน้ำที่เคยไหลอยู่บนดาวอังคารในอดีตว่า ร่องรอยดังกล่าวไม่น่าจะเกิดจากทางน้ำไหลอย่างที่เข้าใจ หากแต่เป็นการไหลของสิ่งที่เต็มไปด้วยเม็ดหินดินทรายมากกว่า

เมื่อเดือน ธ.ค. 2549 นาซาได้สร้างความฮือฮาในวงการสำรวจอวกาศอีกครั้งจากการเปิดเผยภาพถ่ายภูมิประเทศบนดาวอังคารบริเวณเซนทูรี มองเตส (Centauri Montes) ที่ดูคล้ายกับว่าเคยมีน้ำไหลผ่านมาบริเวณนั้นมาก่อนเมื่อหลายสิบปีก่อน และเป็นหลักฐานที่ชี้ได้ว่าเคยมีน้ำอยู่บนดาวอังคารเมื่อในอดีต

ผลการศึกษาดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงในวารสารไซน์ (Science) โดยไมเคิล มาลิน (Michael Malin) ซึ่งภาพที่เห็นได้จากกล้องมอก (Mars Orbital Camera: MOC) ของยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ (Mars Global Surveyor) เมื่อปี 2542 และได้รับการยืนยันอีกครั้งจากภาพถ่ายในปี 2549 ที่ได้จากกล้องไฮไรส์ (High Resolution Imaging Science Experiment: HiRISE) ของยานมารส์ รีคอนเนซซอง ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ที่ให้รายละเอียดของภาพถ่ายบนดาวอังคารมากกว่าการสำรวจครั้งก่อนๆ

จากความรู้พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์ที่ว่าการไหลของของเหลวและของแข็งต่างกัน ทีมนักวิจัยที่นำโดยจอน ดี เพลเลเทียร์ (Jon D. Pellet) จึงทดลองสร้างภาพ 3 มิติ ในคอมพิวเตอร์ด้วยแบบจำลองภูมิประเทศเชิงเลข (digital elevation model: DEM) จำลองภูมิประเทศบนดาวอังคารและทดสอบการไหลของน้ำ (liquid water) เปรียบเทียบกับการไหลของเม็ดดินทราย (dry granular) ภายใต้สภาวะบนดาวอังคาร

"แบบจำลองการไหลของวัสดุแห้งที่อาจเป็นเม็ดทรายหรือก้อนกรวดคล้ายกับที่ปรากฏในภาพถ่ายจากไฮไรส์มากกว่าจะเป็นน้ำ ทำเอาผมประหลาดใจมาก เพราะทีแรกพวกเราตั้งใจจะพิสูจน์ให้ได้ว่ามันคือร่องรอยน้ำไหลจริงๆ" เพลเลเทียร์ เผยผลการทดสอบ

"พวกเราหวังว่าผลการทดสอบจะไม่ชี้ออกมาว่าเป็นการไหลของก้อนกรวดแห้งๆ แต่มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคาดไว้" คำกล่าวของอัลเฟรด เอส แมคอีเวน (Alfred S. McEwen) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยภาพถ่ายดาวเคราะห์ (Planetary Image Research Laboratory) ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา และหนึ่งในผู้สำรวจหลักของไฮไรส์

จากผลการทดสอบ ทีมวิจัยได้ข้อสรุปว่า ร่องรอยในภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคารดังกล่าวมิได้เกิดจากน้ำไหล แต่น่าจะเกิดจากการไหลทะลักของเม็ดดินทรายแห้งๆ มากกว่า หรืออาจเกิดจากการไหลของดินโคลนที่มีตะกอนเป็นองค์ประกอบอยู่ 50-60% หรือของเหนียวข้นหนืดคล้ายกากน้ำตาล เช่น ลาวา ก็เป็นได้

สำหรับผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารจีโอโลจี (Geology) ฉบับเดือน มี.ค. 2551 ในชื่อหัวข้อว่า "Recent bright gully deposits on Mars: wet or dry flow?"

กำลังโหลดความคิดเห็น