xs
xsm
sm
md
lg

"เอนเดฟเวอร์" ส่งส่วนแรก "คิโบ" ห้องแล็บความหวังของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เอพี/เอเอฟพี - กระสวยอวกาศ "เอนเดฟเวอร์" ทะยานฟ้าตอนกลางคืนครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่งส่วนแรก "คิโบ" ห้องแล็บอวกาศของญี่ปุ่นขึ้นต่อเติมสถานีอวกาศ และทำสถิติกระสวยอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจนานสุดถึง 16 วัน

กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทะยานฟ้าขึ้นจากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) สหรัฐฯ เมื่อเวลา 13.28 น.ตามเวลาประเทศ ถือเป็นเที่ยวบินแรกของนาซาที่ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปในเวลากลางคืนตามเวลาท้องถิ่นนับแต่ปี 2549 โดยที่ผ่านมามีเที่ยวบินกระสวยอวกาศเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ถูกส่งขึ้นไปในเวลากลางคืน และเที่ยวบินนี้ยังเป็นเที่ยวบินที่มีภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติยาวนานที่สุดคือ 16 วัน

เที่ยวบินนี้ประกอบด้วยลูกเรือทั้งหมด 7 นาย ได้แก่ โดมินิค แอล กอรี (Dominic L. Gorie) ผู้บังคับการบิน, เกรกอรี เอช จอห์นสัน (Gregory H. Johnson) นักบิน ส่วนอีก 5 นาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ ได้แก่ ริชาร์ด เอ็ม ลินน์ฮาน (Richard M. Linnehan), โรเบิร์ต แอล เบห์นเคน (Robert L. Behnken), แกร์เรตต์ อี ไรสแมน (Garrett E. Reisman), ไมเคิล เจ โฟร์แมน (Michael J. Foreman) และทาคาโอะ โดอิ (Takao Doi) นักบินจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา)

ภารกิจของลูกเรือเอนเดฟเวอร์คือนำส่วนแรกของห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบ (Kibo) ของญี่ปุ่นซึ่งมีความหมายว่า "ความหวัง" ขึ้นไปติดตั้ง โดยส่วนแรกนี้คือเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการทดลองเกี่ยวความโน้มถ่วงต่ำซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปิดศักราชใหม่ของการสำรวจอวกาศที่ไกลขึ้น

ทั้งนี้ต้องอาศัยเที่ยวบินถึง 3 เที่ยวเพื่อลำเลียงส่วนประกอบทั้งหมด 3 ส่วนของคิโบ โดยเที่ยวบินถัดไปคือวันที่ 25 พ.ค.51 เป็นคิวของห้องปฏิบัติการทดลองรูปทรงกระบอก (Pressurized Module) ซึ่งเป็นส่วนหลักของห้องปฏิบัติการ และนอกจากติดตั้งส่วนประกอบของคิโบแล้วนักบินอวกาศประจำเที่ยวบินนี้ยังจะทำการทดลองทดสอบแผ่นกระเบื้องกันความร้อนด้วย

เที่ยวบินของเอนเดฟเวอร์นี้เป็นเที่ยวบินที่สองในแผนการส่งกระสวยอวกาศ 6 ครั้ง ทั้งนี้นาซาเผชิญกับภาวะกดดันของกำหนดเวลาที่ต้องต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติให้แล้วเสร็จในปี 2553 และปลดระวางกระสวยอวกาศทั้งสามลำที่เหลือ












กำลังโหลดความคิดเห็น