xs
xsm
sm
md
lg

นาซาไม่ติดใจ "โซยุซ" หวิดพานักบินดับ ยังเชื่อมั่นเทคโนโลยีรัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพของที่ลงจอดของแคปซูลโซยุซแบบไม่สวยหรูออกห่างจากเป้าหมายไปถึง 420 กิโลเมตร
สเปซด็อทคอม/เอเอฟพี - ผู้บริหารนาซาระบุการลงจอดแบบไม่ปกติของยาน "โซยุซ" ที่นำลูกเรือของนาซารวมทั้งนักบินอวกาศคนแรกของเกาหลีใต้กลับสู่โลกแบบหวาดเสียวหลุดเป้าหมายไปไกลหลายร้อยกิโล และเพิ่ม "แรงจี" อีก 2 เท่าตัวนั้นไม่ใช่ "ปัญหาใหญ่" ย้ำยังเชื่อมั่นระบบยานอวกาศของรัสเซีย

เหตุการณ์ลงจอดของยานโซยุซ (Soyuz) ที่ประเทศคาซัคสถานเมื่อวันที่ 19 เม.ย.51 ที่ผ่านมา โดยลงจอดห่างจากเป้าหมายไปถึง 420 กิโลเมตรและเกิดแรงโน้มถ่วงขึ้นถึง 8.2 เท่าของแรงโน้มถ่วงบนพื้นโลก ซึ่งแม้ลูกเรือทั้งหมดจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้จะปลอดภัย  แต่แรงโน้มถ่วงหรือ "แรงจี" (G) ที่เกิดขึ้นก็นับได้ว่า "ไม่ธรรมดา" เพราะโดยปกติยานอวกาศที่ออกแบบโดยรัสเซียจะนำนักบินอวกาศกลับสู่โลกด้วยแรงโน้มถ่วงแค่ 6 เท่าของโลกเท่านั้น 

ตามรายงานของ "อินเทอร์แฟกซ์นิวส์" (Interfax news) สื่อของสื่อของรัสเซียเมื่อต้นสัปดาห์ ระบุว่านักบินอวกาศทั้งหมดนั้นโชคดีที่รอดชีวิตมาได้จากการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างอันตรายเมื่อวันเสาร์ที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยานอวกาศโซยุซที่ออกแบบโดยรัสเซียนั้นได้ออกจากเป้าหมายไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร พร้อมยกคำพูดแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับทีมสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเปิดเผยรายชื่อว่า "ข้อเท็จจริงที่ลูกเรือไม่ได้รับอันตรายและกลับมาอย่างปลอดภัยนั้นโชคดีมากๆ เพราะสุดท้ายเรื่องเลวร้ายมากๆ อาจเกิดขึ้นได้"

ด้านเป็กกี ไวท์สัน (Peggy Whitson) นักบินอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับการหญิงคนแรกของสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาและเดินทางกลับโลกพร้อมยานโซยุซหลังเสร็จสิ้นภารกิจในอวกาศ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น "เป็นเรื่องเร้าความรู้สึกเกินกว่าที่คิดไว้มาก" แต่ก็ไม่เลวร้ายเหมือนที่เธอคาดการณ์

"ช่วงสั้นๆ หลังจากยานแยกออกมาเราก็เปลี่ยนการทำงานอัตโนมัติสู่โหมดจรวดความเร็วสูง (ballistic mode) ซึ่งหมายความว่าเราได้เคลื่อนที่แบบหมุนควงไปสู่แรงโน้มถ่วง 8 จี และจะหลุดออกไปจากเป้าหมาย"

"ฉันเห็นตัวเลข 8.2 จีที่มิเตอร์ มันค่อนข้าง...ค่อนข้างเร้าความรู้สึกมาก แรงโน้มถ่วงไม่เป็นมิตรกับฉันเลย และตัวเลขที่ 8 จี ก็แน่ชัดว่าไม่เป็นมิตรกับฉันแต่ก็เกิดขึ้นกับฉันอย่างยาวนาน" ไวท์สันกล่าว

อย่างไรก็ดี บิล เกอร์สเทนไมเออร์ (Bil Gerstenmaier) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการอวกาศกล่าวว่า เขาไม่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าไม่ควรจะเกิดขึ้น อีกทั้งเขาเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถืออยู่ในระบบของยานโซยุซ และกล่าวอีกว่าเขายังไม่ได้ยินอะไรจากรัสเซียที่ชี้นำว่าทุกชีวิตซึ่งเป็นชาวรัสเซีย อเมริกันและเกาหลีใต้ซึ่งออกไปนอกโลกนั้นได้รับความเสี่ยง

"พวกเขา (เจ้าหน้าที่จากรัสเซีย) ได้รับแจ้งเตือนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อันตรายที่เกี่ยวเนื่องกับลูกเรือนั้นเรายังไม่ได้มีการอภิปรายใดๆ ทั้งนั้น พวกเขาไม่ได้ส่งสารให้เราหรือส่งสารมาทางผมถึงประเด็นเกี่ยวกับอันตรายเลย" เกอร์สเทนไมเออร์กล่าว พร้อมเผยว่าทางรัสเซียได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบสวนสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเขาจะรอคอยรายงานดังกล่าว

"เราจำเป็นที่จะต้องนำแคปซูลกลับมาเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ผมไม่อยากให้เราคาดเดากันไปเอง เจ้าหน้าที่ของนาซาอาจจะถกกันถึงผลที่ได้รับการพิสูจน์ร่วมกับองค์การอวกาศรัสเซีย ก่อนที่จะมีการส่งยานอวกาศโซยุซเที่ยวถัดไปในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ อาจใช้เวลา 1 เดือนหรือประมาณนั้นก่อนที่เราจะได้รับคำพิจารณาใดๆ จากคณะกรรมการ" เกอร์สเทนไมเออร์กล่าว

สำหรับเที่ยวบินของโซยุซหนนี้ได้นำลูกเรือกลับสู่โลกทั้งหมด 3 นายคือ เป็กกี ไวท์สัน นักบินอวกาศหญิงจากสหรัฐฯ ยูริ มาเลนเชนโค (Yuri Malenchenko) นักบินอวกาศชายจากรัสเซีย และ ยี โซ-ยีออน (Yi So-yeon) นักบินอวกาศคนแรกของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้หญิง.
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดที่ยานโซยุซลงจอด
เป็กกี้ ไวท์สัน ได้รับการพยุงจากเจ้าหน้าที่หลังจากกลับสู่โลกด้วยเที่ยวบินของโซยุซที่หลุดเป้าหมายออกไปไกล
ภาพขณธเจ้าหน้าที่ช่วยกันพยุง ยี โซ-ยีออน นักบินอวกาศเกาหลีใต้หลังจบสู่โลกด้วยเที่ยวบินสุดระทึก
กำลังโหลดความคิดเห็น