ช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ ดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 จะโคจรเฉียดโลก แต่ไม่มีผลกระทบใดๆ นักดูดาวชาวไทยอาจไม่ได้เห็นช่วงที่เข้าใกล้โลกที่สุด แต่สามารถสังเกตได้ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.51 ส่วนดาวเคราะห์น้อยชนดาวอังคารโอกาสก็ลดเหลือแค่โคจรผ่านเช่นกัน
โครงการจับตาวัตถุใกล้โลก หรือ “นีโอ” (NEO : Near-Earth Object Program) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ได้คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 จะโคจรเฉียดโลกในตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดคือระยะห่าง 554,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 1.4 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ในช่วงวันที่ 28-29 ม.ค.51
ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์จากนีโอเชื่อว่า เมื่อดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 อยู๋ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด เทห์วัตถุอวกาศชิ้นนี้จะกลายเป็นวัตถุนอกโลกที่ใกล้โลกที่สุดในรอบ 2,000 ปี
ทั้งนี้ ภาพล่าสุดของดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 ที่นักวิทยาศาสตร์ของนาซาบันทึกได้ เผยให้เห็นลักษณะของตัวดาวที่มีรูปร่างไม่สมมาตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางจากที่ประมาณอย่างหยาบๆ คือ 250 เมตร
ขณะที่ผู้สนใจเหตุการณ์บนท้องฟ้าทั่วโลกกำลังเตรียมสังเกตดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นไม่สามารถสังเกตได้ โดย น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ตามเวลาประเทศไทยคือ 15.33 น.ของวันที่ 29 ม.ค.51 ซึ่งเป็นช่วงบ่ายจึงไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้
รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็กมาก และมีความสว่างแมกนิจูด 10 ซึ่งถือว่าสว่างน้อยมาก จึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา แต่มองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้วขึ้นไป
อย่างไรก็ดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยแนะนำว่า นักดูดาวไทยสามารถตั้งกล้องดูดาวเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้วขึ้นไปเพื่อสังเกตปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น.วันที่ 28 ม.ค.51 ทำมุมเงยประมาณ 45 องศาเหนือกลุ่มดาวม้าบินเยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
อีกทั้งในเวลาเดียวกันของคืนวันที่ 29 ม.ค.51 ก็จะเห็นปรากฏการณ์ได้อีกครั้ง โดยดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 จะขยับไปที่ตำแหน่งมุมเงยประมาณ 45 องศาของปีกด้านตะวันออกของกลุ่มดาวค้างคาว
จากนั้นในตอนเช้ามืดของวันที่ 30 ม.ค.51 ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นก็จะมองเห็นผ่านกล้องที่ตำแหน่งมุมเงยประมาณ 45 องศาเยื้องไปที่บริเวณขาหน้าของกลุ่มดาวจระเข้
ทั้งนี้ การโคจรผ่านของดาวเคราะห์น้อย 2007 TU24 ที่ถือว่าใกล้โลกที่สุดนั้น จะไม่มีโอกาสเปลี่ยนทิศจนพุ่งชนโลก โดยหอดูดาวบางแห่งจะตรวจจับรังสีและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ดาวเคราะห์น้อยอาจจะแพร่ออกมาในระยะใกล้ที่สุด แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ ต่อโลก
ปกติแล้วจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใกล้เคียงกันนี้โคจรผ่านโลกในระยะใกล้ทุกๆ 5 ปี แต่การโคจรในระยะประชิดโลกมากพอที่จะก่อให้เกิดผลกระทบแก่โลกได้นั้น นักดาราศาสตร์ทำนายว่าจะเกิดขึ้นในอีก 19 ปีข้างหน้า โดยดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใกล้เคียงหรือใหญ่กว่า 2007 TU24
นอกจากนี้ ในส่วนของดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 ที่นักวิจัยของนีโอทำนายไว้ก่อนสิ้นปี 2550 ว่าจะมีโอกาสพุ่งชนดาวอังคารในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ด้วยอัตราความน่าจะเป็นถึง 1 ใน 25 ปัจจุบันได้ลงลงเหลือเพียง 1 ใน 10,000 และยังมีแนวโคจรเฉียดดาวแดงในวันที่ 30 ม.ค.นี้เช่นเดิม แต่จะไม่มีการปะทะแต่อย่างใด
ชมภาพจำลองดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 พุ่งเฉียดโลก จากที่มีผู้โพสต์ในยูทูบ