xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสชนลดลงเหลือ 1 ใน 40 ดาวเคราะห์น้อยปะทะดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแอนิเมเชั่นจำลองเส้นทางที่เป็นไปได้ ในกรณีที่ดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 จะชนดาวอังคารในวันที่ 30 ม.ค.51 โดยบริเวณแถบจุดๆ สีเหลืองคือแถบที่น่าจะมีการปะทะ (ภาพ : NASA/JPL)
นาซา/สเปซดอทคอม - คนรักดาวแดงโล่งใจได้ เพราะโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนดาวอังคารนั้นยิ่งใกล้จุดตัดยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ทว่านักดาราศาสตร์ก็ยังคงจับตามองโอกาสที่อาจจะเปลี่ยนแปลงต่อไป

ดาวเคราะห์น้อย 2007 ดับเบิบยูดี 5 (2007 WD5) ก้อนหินยักษ์แห่งอวกาศที่ขณะนี้อยู่ห่างจากดาวอังคารออกไป 30,000 กิโลเมตรนั้น นักดาราศาสตร์ทำนายว่ามีแนวโน้มพุ่งชนดาวอังคารในช่วงปลายเดือน ม.ค.51 นี้ลดลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ การทำนายดังกล่าวมาจากข้อมูลของโครงการวัตถุใกล้โลก หรือ "นีโอ" (Near Earth-Object : NEO) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ที่มีหน้าที่จับตาดูวงโคจรของวัตถุหรือก้อนหินต่างๆ ในอวกาศ

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2550 โอกาสที่ 2007 WD5 พุ่งชนดาวอังคารในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 30 ม.ค. 2551 (ตามเวลาประเทศไทย) นั้นมีมากถึง 1 ใน 25 จากเดิมที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 1 ใน 75 เท่านั้น

ทว่า มาในช่วงต้นปีนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการณ์ใหม่ว่าโอกาสที่จะเกิดการชนนั้นมี 2.5% หรือ 1 ใน 40 โดยพิจารณาข้อมูลอีกชุดจากกล้องโทรทัศน์ขนาด 3.5 เมตร ที่หอดูดาวคาลาร์ อัลโต (Calar Alto Observatory) ในสเปน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propulsion Laboratory : JPL) ของนาซาครั้งนี้ ก็ยังคงได้รับการจับตาดูตำแหน่งและระยะทางของดาวเคราะห์น้อยต่อไป ในกรณีที่อาจจะเกิดความไม่แน่นอน

ดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 ถูกระบุครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอะริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้นดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 โคจรด้วยความเร็ว 46,349 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่ากระสุนของปืนไรเฟิลถึง 15 เท่า

จากเส้นผ่านศูนย์กลางที่คาดการณ์ไว้ 50 เมตรของดาวเคราะห์น้อย นับว่าเป็นขนาดเดียวกันกับอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกบริเวณตอนเหนือของอะริโซนาเมื่อ 50,000 ปีก่อน สร้างหลุมขนาดใหญ่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าถ้า 2007 WD5 ชนดาวอังคารก็จะมีลักษณะเหมือนที่โลกโดน โดยจะปลดปล่อยพลังงานออกมาถึง 3 เมกะตัน และทิ้งหลุมลึก 0.8 กิโลเมตรไว้เป็นที่ระลึก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการที่ดาวเคราะห์น้อยชนดาวอังคารจะไม่มีผลกระทบต่อโลก แต่ข้อมูลพื้นผิวของดาวแดงอาจเปลี่ยนไป ทำให้ยากแก่การศึกษาที่มาที่ไปของดาวที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นฝาแฝดของโลก.
ลูกศรสีน้ำเงินมุมขวาล่างคือทิศทางที่ดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5  จะมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร และแถบสีส้มคือแนวปะทะที่เป็นไปได้ (ภาพ NASA/JPL)
ภาพจำลองตำแหน่งปัจจุบันของดาวเคราะห์น้อย 2007 WD5 (ในแถบวงโคจรสีฟ้า) ซึ่งเห็นได้ว่าอยู่ระหว่างโลกกับดาวอังคาร และมีแนวโน้มจะโคจรตัดวงโคจรของดาวอังคารในปลาย ม.ค.51 (ภาพ NASA/JPL)
กำลังโหลดความคิดเห็น