xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนพลูโตดวงที่ 3 ได้ชื่อว่า "มาเกมาเก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสดงพลูตอยด์อีริสที่ค้นโดยไมค์ บราวน์เมื่อปี 2548 โดยจุดสว่างในภาพคือดวงอาทิตย์ (ภาพจากนาซา/คาลเทค/เจพีแอล/สเปซดอทคอม)
ไอเอยูตั้งชื่อพลูตอยด์ดวงที่ 3 ของระบบสุริยะว่า "มาเกมาเก" ตามชื่อเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ของชาวโพลินีเชียน โดยนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบระบุว่า เจอเทหวัตถุนี้ขณะภรรยาตั้งท้อง จึงรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู (International Astronomical Union: IAU) ตั้งชื่อ "มาเกมาเก" (Makemake) ตามชื่อเทพเจ้าผู้สร้างโลก และเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ของชาวโพลินีเชียน (Polynesian) ให้กับดาวเคราะห์แคระดวงที่ 4 ของระบบสุริยะ ซึ่งอยู่ไกลออกไป นอกวงโคจรของดาวเนปจูน และจัดอยู่ในประเภทพลูตอยด์ (plutoid) ระบบใหม่ของเทหวัตถุในระบบสุริยะ

การตั้งชื่อครั้งนี้ สเปซเดลีรายงานว่า เป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการตั้งชื่อวัตถุขนาดเล็ก หรือ ซีเอสบีเอ็น (Small Body Nomenclature: CSBN) และ กลุ่มทำงานตั้งชื่อระบบดาวเคราะห์ หรือดับเบิลยูจีพีเอสเอ็น (Working Group for Planetary System Nomenclature: WGPSN) ซึ่งทั้งสองเป็นคณะทำงานของไอเอยู

ตามรายงานของสเปซดอทคอม "มาเกมาเก" ซึ่งมีสีแดงเล็กน้อยนั้น เป็นวัตถุในระบบสุริยะด้านนอก ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังเล็กและสว่างน้อยกว่าพลูโต ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระ ประเภทพลูตอยด์เมื่อเดือนก่อน

ทั้งนี้นักดาราศาสตร์พบมาเกมาเกเมื่อปี 2548 และเชื่อว่าผิวพลูตอยด์ดวงนี้ ปกคลุมไปด้วยมีเทนแช่แข็ง ส่วนความสว่างนั้น ไอเอยูระบุว่าเพียงพอที่กล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูง สำหรับมือสมัครเล่นจะส่องเห็นได้

สเปซเดลีระบุว่า มาเกมาเกเหมือนพลูตอยด์อื่นๆ ที่อยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน และในบริเวณนั้นเต็มไปด้วยวัตถุเล็กๆ มากมาย ซึ่งเรียกว่าเป็นบริเวณแถบวงแหวนที่เรียกว่า "ทรานส์เนปจูเนียน" (transneptunian region)

ทีมที่ค้นพบพลูตอยด์นี้ นำโดยไมค์ บราวน์ (Mike Brown) จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียในพาซาเดนา (California Institute of Technology in Pasadena) และเบื้องต้นเรียกกันว่า "2005เอฟวาย9" (2005 FY9) ขณะเดียวกันก็มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "กระต่ายอีสเตอร์" (Easterbunny)

"วงโคจรก็ไม่ได้พิสดารอะไร แต่ตัววัตถุเองนั้นใหญ่ บางทีอาจจะประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดดาวพลูโต ทั้งนี้เราพิจารณาการตั้งชื่อให้กับวัตถุในระบบสุริยะอย่างระมัดระวัง" สเปซดอทคอมรายงานคำพูดของบราวน์ ซึ่งระบุด้วยว่า การเชื่อมโยงพลูตอยด์ดวงนี้ เข้ากับเทวตำนานไม่ใช่เรื่องง่าย

บราวน์และทีมได้ค้นพบดาวเคราะห์แคระขนาดเล็ก ทั้งมาเกมาเก อีริสและ 2003อีแอล61 (2003 EL61) ในขณะที่ภรรยาของเขาอุ้มท้องลูกสาวอยู่พอดี ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ และเขามีความทรงจำที่ชัดเจน ในความรู้สึกว่าเทพเจ้ามาเกมาเกนั้น มีส่วนร่วมในการหว่านความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เอกภพทั้งหมด และคณะกรรมการตั้งชื่อก็ยอมรับชื่อนี้จากการหารือระหว่างกันผ่านอีเมล

สเปซเดลีระบุด้วยว่า พลูตอยด์มาเกมาเก พร้อมด้วยอีริสและ2003อีแอล61 มีบทบาทสำคัญในระบบสุริยะ เพราะเป็นวัตถุที่ได้รับการค้นพบ พร้อมๆ กับการหวนพิจารณานิยามของดาวเคราะห์ และจัดกลุ่มใหม่ให้กับดาวเคราะห์แคระ

นอกจากพลูโตและมาเกมาเกแล้ว "อีริส" (Eris) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อยก็จัดเป็นพลูตอยด์อีกดวง โดยทั้งหมดจัดเป็นดาวเคราะห์แคระ ส่วน "ซีเรส" (Ceres) ซึ่งเป็นวัตถุคล้ายดาว ที่ใหญ่สุดในระบบสุริยะ และเป็นดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกันนั้นไม่จัดเป็นพลูตอยด์ เนื่องจากรูปแบบการโคจรที่ต่างไป โดยอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี.
ภาพจินตนาการจากศิลปินแสดงระบบของพลูโตที่มีดวงจันทร์ 2 ดวงคือ นิกซ์ (Nix) และ ไฮดรา (Hydra) โคจรรอบ (ภาพจากนาซา/อีซา/สเปซดอทคอม/G. Bacon)
กำลังโหลดความคิดเห็น