xs
xsm
sm
md
lg

"พลูตอยด์" คำใหม่เรียกดาวเคราะห์แคระคล้ายพลูโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวงในระบบสุริยะ โดยมีดาวเคราะห์แคระอีก 2 ดวงที่จัดอยู่ในกลุ่ม พลูตอยด์ ได้แก่ พลูโต และอีริส ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นกันและอยู่เลยดาวเนปจูนออกไปในแถบไคเปอร์ (ภาพจาก บีบีซีนิวส์)
เมื่อปี 2549 "พลูโต" ต้องช้ำใจเพราะถูกลดสถานภาพจากดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะให้เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ แต่ล่าสุดได้รางวัลปลอบใจให้เป็นต้นแบบของดาวเคราะห์แคระที่พบในแถบไคเปอร์ ดวงใดมีขนาดและวงโคจรใกล้เคียงกับพลูโตให้เรียก "พลูตอยด์"

สำนักข่าวรอยเตอร์สและบีบีซีนิวส์รายงานว่า สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือไอเอยู (International Astronomical Union : IAU) ได้มีการจัดการประชุมระบบการเรียกชื่อวัตถุขนาดเล็ก (Committee on Small Body Nomenclature) ขึ้น เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.51 ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เหล่านักดาราศาสตร์มีมติ ให้คำว่า "พลูตอยด์" (plutoid) เป็นนิยามใหม่ของดาวพลูโต (Pluto) และรวมถึงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ดวงอื่นๆ ที่มีวงโคจร และขนาดใกล้เคียงกับดาวพลูโต ที่อาจค้นพบได้ในอนาคต

คำแถลงของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลระบุ ให้คำว่า "พลูตอยด์" หมายถึง วัตถุบนท้องฟ้าในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์, มีมวลมากเพียงพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเอง ให้อยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium) และไม่สามารถกวาดเทห์วัตถุอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงไปได้

ขณะนี้มีดาวเคราะห์แคระที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพลูตอยด์แล้ว 2 ดวง ได้แก่ พลูโต และอีริส (Eris) ที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย และเป็นดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็คาดหวังกันว่า ในอนาคตจะมีการค้นพบวัตถุประเภทพลูตอยด์เพิ่มมากขึ้นอีก ส่วนซีเรส (Ceres) นั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกับพลูโตและอีริส แต่ไม่จัดว่าเป็นพลูตอยด์ เนื่องจากอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ไม่ได้อยู่ในแถบไคเปอร์เหมือนพลูตอยด์ทั้ง 2 ดวง

อย่างไรก็ดี วารสารนิวไซเอนติสต์รายงานอีกว่า ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) หรือคาลเทค ในเมืองพาซาเดนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า พลูตอยด์จะต้องมีความสว่างในระดับน้อยที่สุดเท่านั้น (minimum brightness) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่แยกแยะพลูตอยด์ออกจากดาวเคราะห์แคระอีกหลายดวง ที่พบแล้วในแถบไคเปอร์ได้

"วัตถุในแถบไคเปอร์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตจะถูกจัดให้เป็นพลูตอยด์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปกคลุมพื้นผิววัตถุนั้นด้วย ถ้าหากพลูโตถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นผง พลูก็อาจจะไม่ใช่พลูตอยด์ก็เป็นได้" บราวน์กล่าวกับนิวไซเอนติสต์

ทั้งนี้ ดาวพลูโตถูกค้นพบเมื่อปี 2473 โดยไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) และได้รับการพิจารณาให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงกันในวงการดาราศาสตร์ ว่าดาวพลูโตเหมาะสมกับคุณสมบัติของดาวเคราะห์หรือไม่ จนกระทั่งเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2549 สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลมีมติ ถอดดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ และจัดให้มีสถานภาพเป็นดาวเคราะห์แคระแทน เป็นผลให้ระบบสุริยะคงเหลือดาวเคราะห์ ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์เพียง 8 ดวง.
ภาพพื้นผิวของดาวพลูโตที่ได้จากกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งขณะนั้นพลูโตยังมีสถานภาพเป็นดาวเคราะดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ (ภาพจาก Reuters/ESA)
ภาพจำลองดาวพลูโตและดวงจันทร์ชารอน โดยดาวพลูโตถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์ดาวที่ 9 ในระบบสุริยะให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระเมื่อปี 2549 และในปี 2551 ได้รับการจัดให้เป็น พลูตอยด์ ซึ่งหมายรวมถึงวัตถุอื่นในแถบไคเปอร์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตด้วย (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น