xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเอกภพ 400 ปี "กาลิเลโอ" ส่องกล้องสำรวจอวกาศในมหกรรมวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


400 ปีก่อน "กาลิเลโอ" ได้เบิกฟ้าสำรวจอวกาศด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 30 เท่า เปิดประตูสู่เอกภพอันกว้างใหญ่ ที่ปัจจุบันความรู้เราได้ไปไกลกว่าระบบสุริยะ ภายในมหกรรมวิทยาศาสตร์ปีนี้จึงจัดให้ "เอกภพวิทยา" เป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักของงาน

ภายในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-23 ส.ค.52 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้หัวข้อ "วิทยาศาสตร์ก้าวไกลนำไทยก้าวหน้า" ได้จัดให้นิทรรศการ "เอกภพวิทยา" เป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักเนื่องในปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy) เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 400 ปีที่ "กาลิเลโอ กาลิเลอิ" (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ แล้วสำรวจท้องฟ้าอันนำมาซึ่งการค้นพบสำคัญๆ

สำหรับนิทรรศการซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เยี่ยมชมนั้น ก่อนจะได้ชมผลงานของกาลิเลโอ มีสรุปผลงานของนักดาราศาสตร์รุ่นก่อนๆ ทั้งการค้นพบแรกๆ ได้สรุปผลงานทางดาราศาสตร์ และผลงานที่กาลิเลโอได้ต่อยอด อาทิ ฮิพพาร์คัส (Hipparchus) นักดาราศาสตร์กรีกที่พบว่าแกนโลกเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ อีกทั้งยังจัดระเบียบความสว่างของดาวฤกษ์ออกเป็น 6 ระดับ โดยระดับแมกนิจูด 1 หมายถึงสว่างที่สุด ส่วนแมกนิจูด 6 หมายถึงสลัวจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและยังมี นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) ที่บอกว่าโลกโคจรรอบๆ ดวงอาทิตย์เหมือนดาวเคราะห์อื่นๆ เป็นต้น

ส่วนนิทรรศการที่เกี่ยวกับกาลิเลโอได้นำเสนอแบบจำลองผลงานสำคัญ 3 ชิ้น คือ อุปกรณ์วัดมุมกล้องโทรทรรศน์ (Military Sector) นาฬิกาลูกตุ้ม (Pendulum Clock) ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากสังเกตคาบการแกว่งของลูกตุ้ม และพื้นเอียงซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับทดลองให้เห็นว่าที่ความเอียงระดับ เดียวกัน ลูกตุ้มมวลต่างกันจะตกกลิ้งถึงพื้นพร้อมกัน และสำหรับพื้นเอียงที่ระดับต่างกัน มวลเท่ากันจะกลิ้งถึงพื้นไม่พร้อมกัน

พร้อมกันนี้มีท่อ 4 จุดที่ต่อตรงสู่จอภาพแสดงการค้นพบที่สำคัญของกาลิเลโอผ่านกล้องโทรทรรศน์ ได้แก่ การพบวงแหวนดาวเสาร์ การพบดาวบริวารของดาวพฤหัส การพบสภาพพื้นผิวที่ขระขระและหุบเขาบนดวงจันทร์ จุดดับบนดวงอาทิตย์และทางช้างเผือก

อีกทั้งการสังเกตท้องฟ้าของเขาด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองนั้น ยังยืนแนวคิดของโคเปอร์นิคัสว่า "ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่โลก" (ปัจจุบันเราทราบว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางระบบสุริยะ แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล)

สำหรับกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอนั้น เป็นกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่ใช้หลักการประดิษฐ์ของช่างทำแว่นตาชาวดัตช์ ชื่อ ฮันส์ ลิพเพอเซ ที่พบว่าเมื่อวางเลนส์นูนไว้หน้าเลนส์เว้า แล้วเลื่อนหาตำแหน่งที่เหมาะสม เราจะเห็นภาพวัตถุที่เราส่องนั้นโตขึ้นและขยับมาใกล้เรามากขึ้น

ออกจากอุโมงค์นิทรรศการผลงานของกาลิเลโอแล้ว ตบท้ายด้วยข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขานำไปคำนวณการส่ายของวงโคจรดาวพุธ ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกับการสังเกต และยังนำไปสู่การอธิบายเรื่องความโค้งของอวกาศ

หรือผลงานของเอ็ดวิน พาร์เวลล์ ฮับเบิล ผู้ร่วมสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 นิ้ว สำหรับหอดูดาวเมาท์วิลสัน ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ และได้พิสูจน์ว่า กาแลกซีหรือดาราจักรทางช้างเผือกของเรานั้น เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ดาราจักรของเอกภพ

ขณะเดียวกันยังมีโรงภาพยนต์สามมิติ 2 โรงที่ฉายภาพยนต์เกี่ยวกับเรื่องอวกาศและเอกภพ โดยแบ่งเป็นโรงภาพยนตร์สำหรับภาพยนตร์ไทยที่จำลองเป็นการนั่งยานอวกาศมุ่ง สู่นอกโลก และโรงภาพยนต์สามมิติซึ่งฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์และอวกาศจากออสเตรเลีย 7 เรื่อง อาทิ เรื่องดวงอาทิตย์ของเรา ที่นำไปเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์อื่นๆ ในเอกภพ ทำให้เห็นว่าดวงอาทิตย์ที่ใหญ่ยักษ์เมื่อเทียบกับโลกนั้น เป็นดาวฤกษ์ที่เล็กจิ๋วกว่าดาวฤกษ์อื่นๆ อีกมาก ตลอดจนจุดจบของดวงอาทิตย์ที่จะเกิดในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า เป็นต้น

ทางด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.ก็ได้ร่วมฉลอง 400 ปีการส่องกล้องสำรวจอวกาศของกาลิเลโอ ด้วยปฏิทินเวลาแสดงพัฒนาการของกล้องโทรทรรศน์ตลอด 400 ปี นับแต่กาลิเลโอได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ตลอดจนการค้นพบทางดาราศาสตร์สำคัญๆ ซึ่งนอกจากการค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราแล้ว ยังมีการค้นพบเทหวัตถุบนท้องฟ้าอื่นๆ เช่น ดาวแปรแสง เนบิวลา ดาวเคราะห์แคระ การศึกษาอวกาศห้วงลึก และกาแลกซีต่างๆ เป็นต้น
อุปกรณ์วัดมุมกล้องโทรทรรศน์
 นาฬิกาลูกตุ้ม
ผู้ชมงานมองผ่านท่อที่จำลองเป็นกล้องโทรทรรศน์ เพื่อดูผลงานการค้นพบของกาลิเลโอ
ภาพที่มองเห็นผ่านท่อ เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภาพดาวเสาร์ที่กาลิเลโอได้ค้นพบวงแหวน
ข้อมูลเกี่ยวกับฮับเบิล ผู้มีบทบาทต่อวงการดาราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน


จำลองระบบสุริยะหน้าโรงภาพยนตร์สามมิติ
สดร.จัดแสดงกล้องโทรทรรศน์ของจริง
ปฎิทินเวลาการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่สำคัญๆ ในศตวรรษต่างๆ หลังกาลิเลโอส่องกล้องสำรวจท้องฟ้า
นิทรรศการใช้ชีวิตในอวกาศ ฉายคลิปวิถีชีวิตมนุษย์อวกาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น