xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งศตวรรษของปริศนาการระเบิดที่ Tuguska (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

21 ปีหลังการระเบิด สภาพต้นไม้ที่ตายซากแสดงให้เห็นความรุนแรงของเหตุการณ์
ในวารสาร Scientific American ฉบับเดือนมิถุนายนปีนี้ Guiseppe Longo แห่งมหาวิทยาลัย Bologna ในอิตาลี ได้รายงานว่า ทะเลสาบ Cheko ที่มีขนาด 350 x 500 เมตร และลึก 50 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจาก Tunguska ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 8 กิโลเมตร อาจเป็นหลุมอุกกาบาตที่ทุกคนต้องการเห็น การใช้อุปกรณ์ sonar สำรวจก้นทะเลสาบ พบว่า ทะเลนี้ลึก 50 เมตร และก้นทะเลมีลักษณะเป็นกรวย อนึ่งตำแหน่งของทะเลสาบนี้ก็อยู่ในแนวที่อุกกาบาตพุ่งผ่านพอดี การสำรวจยังพบอีกว่า มีก้อนวัตถุฝังลึกอยู่ใต้ก้นทะเลสาบก้อนหนึ่ง

แต่ Gareth Collins แห่ง Imperial College London ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ โดยให้เหตุผลว่า ในบริเวณรอบทะเลสาบไม่มีหลักฐานว่ามีสะเก็ดอุกกาบาตกระเด็น และภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2481 ซึ่งเป็นเวลา 30 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ ภาพได้แสดงว่า ต้นไม้แถบนั้นมีอายุมากกว่า 30 ปี นั่นคือ ต้นไม้แถบนั้นยังคงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ทั้งๆ ที่อุกกาบาตตกใกล้ๆ ข้อสรุปเรื่องทะเลสาบ Cheko จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อนึ่งภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณทะเลสาบก่อนปี 2451 ก็ไม่มี และแผนที่รัสเซียที่ทำเมื่อปี 2426 ก็ไม่แสดงทะเลสาบใดๆ ซึ่งการไม่แสดงทะเลสาบ ไม่ได้หมายความว่า ทะเลสาบไม่มี แต่เพราะแผนที่นั้นไม่ละเอียด

จึงเป็นว่าถึงเวลาผ่านไป 100 ปี แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาข้อสรุปของสาเหตุการระเบิดที่ Tunguska ไม่ได้ ถึงกระนั้นวงการวิทยาศาสตร์ก็ยังสนใจปริศนาลึกลับนี้อยู่ เพราะในอดีตเมื่อ 4,400 ล้านปีก่อน โลกเคยถูกดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าดาวอังคารชน ขณะนั้นโลกมีอายุน้อยเพียง 200 ล้านปี ผลการชนทำให้ชิ้นส่วนหนึ่งหลุดออกไปรวมตัวกับเป็นดวงจันทร์ และเมื่อ 65 ล้านปีก่อน โลกได้ถูกอุกกาบาตพุ่งชนอีก การระเบิดที่รุนแรงทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ และเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2537 ชาวโลกก็ได้เห็นดาวหาง Shoemaker - Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดี เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า เหตุระเบิดที่เกิดจากวัตถุนอกโลกตกชนโลก อาจเกิดได้ทุก 700-1,000 ปี แต่ก็นับว่าโชคดี เพราะการระเบิดเหนือ Tunguska ครั้งนั้น เกิดในป่าที่ไม่มีคนอยู่ เพราะถ้าเกิดที่กรุงเทพฯ หรือ ลอนดอน เมืองทั้งเมืองจะไม่มีอะไรเหลือ

ดังนั้น การศึกษาเหตุการณ์ที่ Tunguska จึงอาจช่วยให้มนุษย์รอดปลอดภัยจากการถูกทำลายล้างเผ่าพันธุ์ได้ โดยมีขั้นตอนการศึกษา คือ ต้องดูว่าดาวที่จะพุ่งชนนั้นเป็นดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย เพราะถึงผลที่เกิดขึ้นจะคล้ายกัน แต่ดาวหางมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อย และอยู่ไกลกว่า ดังนั้นเมื่อดาวหางเข้าใกล้โลก มันจะมีความเร็วสูง สำหรับโอกาสชนนั้นก็น้อย ส่วนดาวเคราะห์น้อยอยู่ใกล้โลกยิ่งกว่า และมีความเร็วไม่สูงมาก แต่เห็นยากกว่าดาวหางซึ่งมีหางยาว และเมื่อดาวเคราะห์น้อยมีจำนวนมาก ดังนั้นโลกจึงมีโอกาสถูกดาวเคราะห์น้อยชนมากกว่า และนี่คือสิ่งที่สมาคม Planetary Society พบว่า ขณะนี้มีดาวเคราะห์น้อยชื่อ Apophis ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 300 เมตร ดาวนี้มีโอกาส 1 ใน 45,000 ที่จะชนโลกในปี 2579

ดังนั้น สมาคมจึงเสนอรางวัล 25,000 ดอลลาร์ แก่ผู้ที่มีแผนที่ดีที่สุดในการทำให้โลกปลอดภัยจากการถูก Apophis ชน และในการติดตามวิถีโคจรของ Apophis นั้น องค์การ Space Works Engineering ที่ Atlanta ในสหรัฐอเมริกาได้ออกแบบยานอวกาศ Foresight มูลค่า 140 ล้านเหรียญ เพื่อส่งไปโคจรรอบ Apophis แล้วรายงานข้อมูลของดาวมาให้โลกรู้ล่วงหน้า

หากผู้อ่านสนใจศึกษาความหายนะประเภทนี้ ก็หาอ่านได้จากหนังสือ ชื่อ Comet / Asteroid Impacts and Society ; An Interdisciplinary Approach ที่มี P.T. Bobrowly กับ H. Rickman เป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดย Springer - Verlag เมื่อปี 2007 ครับ.

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
100 ปีหลังเหตุการณ์ สายน้ำ และต้นไม้ที่งอกใหม่กลับสู่สภาพเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น