นักวิจัยเร่งหายีนควบคุมความหอมในข้าวไทยเพิ่มเติม หลังได้รับสิทธิบัตรเทคนิคควบคุมความหอมของข้าวจากสหรัฐฯ หวังสร้างนวัตกรรมใหม่รองรับสิทธิบัตรหมดอายุ เผยสิทธิบัตรนี้ช่วยปกป้องภาพลักษณ์ข้าวไทยในตลาดโลก พร้อมระบุอยากให้กฎหมายไทยคุ้มครองยีนด้วย แต่ต้องมีกฏระเบียบที่ทำให้ไม่เสียเปรียบต่างชาติ
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานเสวนาเรื่อง "อนาคตข้าวไทย...ก้าวย่างสำคัญหลังจากจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการใช้ยีนควบคุมความหอมในข้าว" เมื่อวันที่ 13 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ณ อาคาร สวทช. ถนนพระราม 6 ซึ่งสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมฟังการเสวนาจำนวนมาก รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ผู้วิจัยค้นหายีนความหอมในข้าว จนได้รับสิทธิบัตรเทคโนโลยีการควบคุมความหอมในข้าวจากสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพื้นเมืองของไทยและเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ซึ่งปกป้องโดยตรงด้วยการจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา นักวิจัยจึงมุ่งไปที่ยีนในข้าว จนค้นพบยีนที่ควบคุมความหอมของข้าว ค้นพบวิธีการพิสูจน์หน้าที่ของยีนควบคุมความหอม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนข้าวที่ไม่หอมให้เป็นข้าวหอมได้
ดังนั้น จึงได้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรวิธีการดังกล่าวในประเทศไทย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ฝรั่งเศส และยุโรป (EPO) ซึ่งขณะนี้ได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐฯ แล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.51 ส่วนในประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการพิจารณาเพื่อให้สิทธิบัตร ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี
ทั้งนี้ กฎหมายสิทธิบัตรในแต่ละประเทศ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป ซึ่งในสหรัฐฯ อนุญาตให้จดสิทธิบัตรยีนได้ แต่สำหรับกฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตได้ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ รวมทั้งส่วนของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมถึงยีนของสิ่งมีชีวิตด้วย ยกเว้นจุลินทรีย์ที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น สามารถจดสิทธิบัตรได้
ด้าน ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักวิจัยผู้ร่วมทีมค้นหายีนความหอมในข้าวไทยด้วย กล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยได้จากการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวคือ ป้องกันไม่ให้ต่างชาตินำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการทำให้ข้าวพันธุ์อื่น หอมกว่าข้าวไทย รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ
แต่ให้สิทธิกับคนไทยในการนำไปต่อยอดด้านต่างๆ ได้ เช่น พัฒนาชุดตรวจหายีนความหอมในข้าว แป้งข้าวเจ้า เป็นต้น รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทำให้เราปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน
"การได้สิทธิบัตรเทคโนโลยีควบคุมความหอมในข้าว ยังช่วยปกป้องภาพลักษณ์และสิทธิของข้าวไทยเอาไว้ด้วย และลดคู่แข่งของไทยได้ เพราะเคยตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของข้าวผกาลำดวน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกัมพูชา พบว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับข้าวหอมมะลิของไทยมากๆ ทั้งยังมีรสชาติและความหอมคล้ายกันด้วย และที่ผ่านมาเรื่องถิ่นกำเนิดของข้าวหอมมะลิก็ยังไม่ชัดเจน" ดร.สมวงษ์กล่าว
อีกทั้ง ดร.สมวงษ์ยังกล่าวอีกว่า หากนักวิจัยต่างชาติค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าวผกาลำดวนได้ก่อนและนำไปจดสิทธิบัตร ไทยเราก็จะเสียประโยชน์ และอาจถูกแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไป
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีการจดสิทธิบัตรยีนในประเทศไทยนั้น ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแสดงความคิดเห็นว่า ไทยควรอนุญาตให้จดได้ในสิ่งที่คนไทยต้องใช้ และเป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพื่อปกป้องสิ่งเหล่านั้นไม่ให้ตกไปเป็นของต่างชาติ เช่น พืชสมุนไพร
ต่อข้อกังวลที่ว่า หากไทยอนุญาตให้จดสิทธิบัตรยีนได้ แล้วจะเสียเปรียบต่างชาติ เพราะอาจสู้ต่างชาติไม่ได้ในเรื่องเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแจงว่า เทคโนโลยีการค้นหายีนข้าวนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่คนไทยก็สามารถทำสำเร็จและจดสิทธิบัตรได้มาแล้ว ฉะนั้นหากเป็นพืชอื่นๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ขณะที่ ดร.อภิชาติ ก็มีความเห็นคล้ายกัน โดยบอกว่า อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปลี่ยนท่าทีในเรื่องของการจดสิทธิบัตรยีน เพราะการค้นพบยีนไม่ใช่เรื่องง่าย หากค้นพบแล้วไม่ได้จดสิทธิบัตร ก็อาจทำให้งานวิจัยด้านนี้ไม่ก้าวหน้า
"หากไทยยอมให้จดสิทธิบัตรยีนได้ ก็ควรจะมีกฎระเบียบที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของไทยไม่ให้ตกไปอยู่กับต่างชาติแต่เพียงผู้เดียวด้วยในกรณีที่เป็นงานวิจัยโดยชาวต่างชาติ เช่น กำหนดให้ต้องมีนักวิจัยไทยร่วมอยู่ในทีมวิจัยด้วย และประเทศไทยต้องได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการจดสิทธิบัตรยีนนั้นด้วย" ดร.อภิชาติกล่าว
นอกจากนี้ ดร.อภิชาติ ยังเผยอีกว่า ขณะนี้กำลังศึกษาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีความหอมยิ่งขึ้น หรือคงความหอมได้นานขึ้น และมีความทนทานต่อแมลงด้วย
เพราะปกติข้าวยิ่งหอม จะยิ่งเชิญชวนให้แมลงเข้ามาทำลาย รวมทั้งวิจัยหายีนตัวอื่นๆ ที่มีบทบาทในการควบคุมความหอมของข้าวด้วย เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไว้รองรับในกรณีที่สิทธิบัตรเทคโนโลยีการควบคุมความหอมในข้าวด้วยวิธีดังกล่าวหมดอายุลง ซึ่งสิทธิบัตรมีอายุการคุ้มครองสิทธิ์เพียง 20 ปี เท่านั้น