ไทยเตรียมเป็นผู้นำโลกด้านสไปรูไลนา หลังทีมนักวิจัยไทยทำสำเร็จ ถอดรหัสจีโนม สไปรูไลนา พลาเทนซิส ได้เป็นครั้งแรก ประกาศความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งภูมิภาคอีกครั้ง หวังให้เกิดประโยชน์ทั้งการแพทย์ เกษตร และเศรษฐกิจของชาติ นักวิทย์เดินหน้าถอดรหัสดีเอ็นเอสิ่งมีชีวิตอื่นต่อทันที
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงข่าวความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของสาหร่าย สไปรูไลนา พลาเทนซิส (Spirulina platensis) ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยความร่วมมือของไบโอเทค, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็ซ์ ซีนีมา เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีสื่อมวลชนหลายสาขามาร่วมงานอย่างคับคั่งรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผอ.สถาบันจีโนม ไบโอเทค เปิดเผยว่า สไปรูไลนา พลาเทนซิส เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จัดเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มแบคทีเรีย และนับว่าแบคทีเรียที่มีความซับซ้อน และมีพันธุกรรมที่เข้าใจได้ยากมาก ทั้งสหรัฐฯ ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ก็พยายามถอดรหัสพันธุกรรมสาหร่ายชนิดนี้ แต่ไม่รู้ว่าแต่ละประเทศทำได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เราถอดรหัสและจัดเรียงแผนที่พันธุกรรมของสไปรูไลนา ซึ่งมีประมาณ 5.8 ล้านคู่เบส ได้มากกว่า 90% แล้ว โดยใช้เทคโนโลยีไพโรซีเควสซิง (Pyrosequesing) คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ และกำลังพิจารณาว่าจะตีพิมพ์ในวารสารใดระหว่าง ไซน์ (Science) กับ พีนาส (PNAS)
"ความยากอยู่ตรงที่เราไม่สามารถสกัดเอาดีเอ็นเอทั้งหมดของสไปรูไลนาออกมาได้ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งคน สามารถทำได้ ดังนั้นเราจึงต้องสกัดดีเอ็นเอจากสาหร่ายหลายๆ เซลล์ แล้วมาถอดรหัสเปรียบเทียบกันว่าส่วนไหนขาดหายไปบ้าง จึงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้" ดร.สมวงษ์ เล่าและอธิบายต่อว่า
"คาดว่าน่าจะเป็นกลไกในการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งของสาหร่ายสไปรูไลนาก็ได้ โดยการสร้างสารขึ้นมาเพื่อทำลายดีเอ็นเอแปลกปลอมที่เข้าสู่เซลล์ ซึ่งเราก็พบว่าสไปรูไลนามีการสร้างสารหลายชนิดที่ไม่พบในแบคทีเรียอื่นๆ และการที่เราไปสกัดเอาดีเอ็นเอของสไปรูไลนา ก็เหมือนเป็นการไปรบกวน ทำให้มันต้องสร้างสารนั้นขึ้นมาเพื่อที่จะป้องกันตัวเอง จนไปมีผลย่อยดีเอ็นเอของมันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่เราจะต้องศึกษากันต่อไป"
ดร.สมวงษ์ บอกอีกว่า การถอดรหัสดีเอ็นเอของสไปรูไลนาในครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยีและการแก้ปัญหาในการวิจัย ซึ่งสามารถนำไปใช้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ได้ โดยขณะนี้ตนกำลังศึกษาในปาล์มน้ำมัน
รศ.ดร.สุภาภรณ์ ชีวะธนรักษ์ นักวิจัย มจธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สไปรูไลนานิยมนำมาใช้เป็นทั้งอาหารคนและสัตว์ เพราะมีโปรตีนมากถึง 70% ของน้ำหนักแห้ง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย, ไวรัส และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เช่น ใช้เลี้ยงลูกกุ้ง จะช่วยลดการติดเชื้อในลูกกุ้งได้ และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งยังส่งผลให้ลดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะสู่สิ่งแวดล้อมได้
"เมื่อเรารู้ดีเอ็นเอทั้งหมดของสไปรูไลนา ทำให้เราสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับฤดูกาล สภาพแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาพืชชั้นสูงได้ด้วย เพราะสไปรูไลนาสามารถสังเคราะห์แสงได้เช่นกัน" รศ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวและบอกว่า นอกจากจะตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกแล้ว ก็จะเผยแพร่ข้อมูลดีเอ็นเอทั้งหมดของสไปรูไลนาสู่สาธารณะด้วย
ด้าน ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดของประเทศไทยในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถทำให้เราทัดเทียมกับนานาชาติได้ ส่วนสาหร่ายสไปรูไลนาก็มีประโยชน์อย่างมากในด้านการเกษตรและการแพทย์ หลายประเทศจึงสนใจศึกษา ทั้งยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเพาะเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก