xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคจับมือเอกชนดันเทคนิคลำดับจีโนม ให้ทุนนักวิจัย 3.5 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชนก อวิรุทธการ (ซ้าย) และ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง
ไบโอเทคชูเทคนิคใหม่ ใช้หาลำดับดีเอ็นเอได้รวดเร็วทันใจกว่าเดิมหลายเท่า นำร่องศึกษาดีเอ็นเอปาล์มน้ำมัน เพื่อปรับปรุงพันธุ์และขยายพื้นที่เพาะปลูก อีกด้านใช้ศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค ควบคู่ดูยีนในแบคทีเรียค้นหาเอนไซม์ย่อยเซลลูโลสลำหรับผลิตเอทานอล พร้อมจับมือเอกชนมอบทุนวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมรวมมูลค่า 3.5 ล้านบาท เปิดรับสมัครถึง ก.ค. นี้

สถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไบโอจีโนเมด จำกัด จัดโครงการประกวดผลงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรม เดอะ เกรท จิกะเบส แกรนท์ (Great Gigabase Grant: 3Gs) โดยเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ เสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนวิจัยในการหาลำดับพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโรช รวมมูลค่า 3.5 ล้านบาท ซึ่งแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 โดยมีผู้สนใจและสื่อมวลชนร่วมงานมากมาย รวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์"

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนม กล่าวว่า เดิมการหาลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจะทำได้ยากและใช้เวลานาน ต้องหาลำดับของดีเอ็นเอแต่ละส่วนแล้วนำมาเรียงต่อกันเพื่อให้ได้จีโนมทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถหาลำดับดีเอ็นเอในแต่ละส่วนของจีโนมได้พร้อมๆ กันโดยใช้เครื่อง จีเอส เอฟแอลเอ็กซ์ (GS FLX)

"การหาลำดับดีเอ็นเอ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีดีเอ็นเอเป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อเรารู้จีโนมของสิ่งมีชีวิตที่เราศึกษา จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นมากขึ้น และสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ศึกษาพันธุกรรมของเชื้อโรคเพื่อดูสายพันธุ์ การกลายพันธุ์ เช่น เขื้อไข้หวัดนก, ศึกษาพันธุกรรมของพืชเพื่อปรับปรุงพันธุ์ หรือใช้ในการตรวจวินิจฉัยความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมได้" ดร.สมวงษ์ อธิบาย

ผอ.สถาบันจีโนม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางสถาบันได้เริ่มใช้เทคนิคดังกล่าวศึกษาจีโนมของปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น และสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ รวมทั้งศึกษาจีโนมของจุลินทรีย์หลายชนิด เพื่อค้นหายีนที่สร้างเอนไซม์ที่มีประโยชน์ เช่น เอนไซม์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ เอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เอนไซม์เซลลูเลส สำหรับย่อยสลายเซลล์ลูโลสในการผลิตเอทานอล ซึ่งขณะนี้พบแล้วในแบคทีเรียบางชนิด นอกจากนี้ เทคนิคดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในการส่งออกได้ด้วย

ทั้งนี้ GS FLX เป็นเครื่องมืออ่านลำดับเบสของดีเอ็นเอด้วยเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ขั้นสูงด้วยหลักการไพโรซีเควนซิง (Pyrosequencing) สามารถอ่านค่าเบสได้อย่างรวดเร็วได้มากกว่า 300 ล้านเบส ภายในเวลา 10 ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยโรช และขณะนี้มีใช้อยู่ในสถาบันจีโนมเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ดร.สมวงษ์ กล่าวต่ออีกว่า การวิจัยด้านลำดับดีเอ็นเอเป็นประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ แต่ในการทำวิจัยแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงเป็นข้อจำกัดของนักวิจัยในการคิดค้นหรือพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นไบโอเทคจึงได้ร่วมกับโรชและไบโอเมด จัดโครงการ 3Gs เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถต่อยอดผลงานวิจัยได้ด้วยการหาลำดับดีเอ็นเอโดยใช้เครื่อง GS FLX ที่สถาบันจีโนม โดยโรชจะเป็นผู้สนับสนุนน้ำยาสำหรับใช้กับเครื่องดังกล่าว

ด้านนายชนก อวิรุทธการ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงรายละเอียดว่าโครงการ 3Gs จะเปิดรับผลงานจากนักวิจัยใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า โดยไม่ได้จำกัดประเภท เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติให้ได้รับทุนทั้งสิ้น 3 ทุน รวมมูลค่า 3.5 ล้านบาท แบ่งเป็นการสนับสนุนน้ำยามูลค่า 2.5 ล้านบาท จำนวน 1 ทุน และ 5 แสนบาท จำนวน 2 ทุน ซึ่งเปิดรับผลงานวิจัยตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 17 ก.ค.52

นักวิจัยที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมขอรับทุน สามารถติดต่อขอรายระเอียดได้ที่สถาบันจีโนม ไบโอเทค โทรศัพท์ 02-564-6700 หรือ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 02-791-2200 ต่อ 2303
เครื่องอ่านลำดับดีเอ็นเอ GS FLX ที่สามารถอ่านได้รวดเร็วมากกว่า 300 ล้านเบส ภายใน 10 ชั่วโมง ขณะนี้มีใช้งานอยู่ที่สถาบันจีโนม ไบโอเทค เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น