xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรช่วยชาตินำนักวิจัยขึ้นแท่น “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย (ซ้าย)  และ ศ.ดร.สายชล เกตุษา (ขวา)
หากเปรียบกับรางวัลโนเบลแล้ว หลายคนยกให้ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” เป็นเสมือนโนเบลของเมืองไทย ผู้ที่ได้ขึ้นแท่นตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เพื่องานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อยาวนาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

ที่ผ่านมาผู้ได้รับการเชิดชูจะวนเวียนอยู่ในแวดวงการแพทย์ วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รางวัลอันทรงเกียรติได้รับมอบให้กับ “นักวิชาการเกษตร” ผู้ช่วยสำคัญของรากฐานเศรษฐกิจไทย

ศ.ดร.สายชล เกตุษา อาจารย์และนักวิจัยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ประจำปี 2552 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย อาจารย์และนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประกาศรางวัลไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ยังรู้สึกแปลกใจที่รับรางวัลนี้ เพราะหากย้อนดูประวัติรางวัลอันทรงเกียรติ จะพบว่าผู้ได้รับรางวัลนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงการแพทย์ วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งที่ส่วนตัวแล้วเขาติดตามวงการวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ ในฐานะ “คนเกษตร” รู้สึกภูมิใจเมื่อได้รับรางวัลนี้ และถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุด” ศ.ดร.สายชลเปิดเผยถึงความรู้สึกระหว่างการประกาศรางวัลสูงสุดแห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย

สำหรับงานวิจัยของ ศ.ดร.สายชลนั้น ศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวผลิตผลสดทางการเกษตร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเสื่อมสภาพ นับเป็นความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้หากไปที่ตลาดสดหรือตลาดส่งออก จะเห็นผัก-ผลไม้เน่าเสียจำนวนมาก เมื่อ 10-20 ปีก่อนไม่มีคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ซึ่งการศึกษาเรื่องสรีรวิทยาและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาหลังการเก็บเกี่ยว อีกทั้งช่วยป้องกันและลดการสูญเสียจากสาเหตุของการเสื่อมสภาพหลังการเก็บเกี่ยวขณะเดียวกันระยะหลัง ดร.สายชลวัย 67 ปีก็เน้นทำงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการต่างประเทศมากขึ้น

ทางด้าน ศ.ดร.อารันต์ กล่าวถึงรางวัลที่ได้รับว่า ดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าในผลงานที่ทำ โดยงานวิจัยของเขานั้นได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาที่ร่วมทีมวิจัย จึงหวังว่ารางวัลนี้ จะเป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยทำงานต่อไป

งานวิจัยของ ศ.ดร.อารันต์มี 2 ด้าน คือ การปรับปรุงพันธุ์พืชซึ่งวิจัยมาเกือบ 30 ปี โดยเน้นที่ถั่วลิสงเมล็ดโตซึ่งมีปัญหาว่า เมื่อนำพันธุ์เข้าปลูกแล้วได้เมล็ดลีบ จึงต้องปรับปรุงพันธุ์ให้เพาะปลูกในเมืองไทยได้ และงานด้านวิชาการที่นำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์มาใช้ประเมินผลผลิตทางเกษตร ในสภาพแวดล้อมต่างๆ

การปรับปรุงพันธุ์พืชของ ศ.ดร.อารันต์ เน้นเรื่อง “ถั่วลิสงเมล็ดโต” ซึ่งเหตุผลที่เขาสนใจศึกษาพืชชนิดนี้แม้จะเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทรอง เนื่องจากยังมีเกษตรกรเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริมอยู่จำนวนมาก ที่สำคัญยังเป็นพืชบำรุงดิน และเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ค่อนข้างเป็นดินทราย ซึ่งเป็นลักษณะดินของภาคอีสาน นอกจากนี้พืชเศรษฐกิจหลักๆ ได้รับการดูแลจากกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้ว อีกทั้งการอยู่ในพื้นที่ภูธรซึ่งมีกำลังสนับสนุนน้อย จึงเลือกศึกษาพืชที่ค่อนข้างมีความพร้อมนี้ ซึ่งมีการเพาะปลูกกันมากในเขตภาคตะวันออกและภาคอีสาน

ถั่วลิสงเมล็ดโตพันธุ์ ขอนแก่น 60-3 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น คือผลงานของ ศ.ดร.อารันต์ แต่เจ้าตัวยอมรับว่าถั่วพันธู์นี้ยังมีข้อด้อยที่อายุค่อนข้างยาว ลำต้นกึ่งเลื้อย และฝักสุก-แก่ไม่พร้อมกัน เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว จึงได้ทำวิจัยต่อเนื่องจนได้ถั่วลิสงเมล็ดโตพันธุ์ มข.60 ซึ่งมีอายุสั้นกว่า 20 วัน ลำต้นไม่เลื้อย และฝักสุกแก่ใกล้เคียงกัน และในอนาคตเขายังมีโครงการปรับปรุงพันธุ์ถั่วให้มีกรดไขมันที่ช่วยลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ

ทั้งนี้ ศ.ดร.สายชลกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงความสำคัญของการเกษตรว่า เป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ ซึ่งประชากร 60% เป็นเกษตรกร ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดี มีรายได้สูง ซึ่งนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีของประเทศ และการเกษตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะเป็นเรื่องปากท้อง หากผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้เราก็ต้องอาศัยปากท้องของคนอื่น

พร้อมย้ำว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าร่ำรวยแล้วต้องสั่งซื้ออาหารจากคนอื่นก็ไม่ดีนัก เพราะเขาอาจไม่ขายให้เราเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งนี้งานวิจัยจะช่วยส่งเสริมการเกษตรในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพราะปัญหาหลายๆ อย่างต้องการข้อมูลจากการวิจัย และวิทยาศาสตร์จะช่วยค้นหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทิศทาง

“ประเทศเราคงหนีการเกษตรไม่ได้เพราะเกษตรเป็นฐานเศรษฐกิจของเรา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำทุกครั้ง เราก็จะหันมาพึ่งพาเกษตร เรามีฐานการเกษตรที่แข็งอยู่แล้ว หากไม่ยึดตรงนี้ไว้จะลำบาก” ศ.ดร.อารันต์ กล่าวถึงความสำคัญของการเกษตรต่อประเทศ

นักวิจัยเกษตรทั้งสองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2552 อีก 3 คน จากการคัดเลือกของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 18 ส.ค.52 ซึ่งตรงกับวันวิทยาสาสตร์แห่งชาติ และจะมีพิธีแสดงความยินดีในเย็นวันเดียวกันนั้น ณ โรงแรมสยามซิตี

***
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

ในแต่ละปีคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเป็นผู้แสวงหานักวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากผลงานที่ทำมาตลอดอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลว่า มีจริยธรรมและเป็นตัวอย่างที่ดี มีความศรัทธาในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันหรือไม่

ทั้งนี้ ผลงานที่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นศึกษานั้น มุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและ/หรือแขนงที่คาบเกี่ยวกันระหว่างสาขาต่างๆ โดยทำภายในประเทศต่อเนื่องไม่น้อย 5 ปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์หรือประเทศ จะเป็นผลงานที่มีความคิดริเริ่ม หรือเป็นองค์ความรู้ใหม่ อีกทั้งผลงานเหล่านี้เป็นที่ยอมรับต่อวงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจะได้รับเงินรางวัลมูลค่ารางวัลละ 400,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน
 ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย
ศ.ดร.สายชล เกตุษา
กำลังโหลดความคิดเห็น