xs
xsm
sm
md
lg

เผยไร้แรงจูงใจทำคนเรียน ป.เอกน้อย เร่งให้ทุนหนุนนักวิจัยผู้ช่วยร่วมด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร (ภาพจาก วช.)
ประธานสภาวิจัยเผย ไทยมีนักศึกษาปริญญาเอกน้อย ทั้งที่มีอาจารย์ระดับด็อกเตอร์นับพัน เทียบฝรั่งเศษประชากรใกล้เคียงไทยแต่มีผู้เรียนปริญญาเอกถึง 6 หมื่นคน เหตุเพราะเราไม่หนุนนักวิจัยผู้ช่วย ส่งผลให้คนเรียนต่อ ป.เอกน้อย ย้ำเร่งให้ทุนหนุนโครงการที่มีนักวิจัยผู้ช่วยร่วมด้วย

ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นประธานในการประชุมชี้แจงกรอบการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ปีงบประมาณ 2553 ของ วช. เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่หลายแห่ง มีอาจารย์ระดับปริญญาเอกรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 คน แต่กลับมีนักศึกษาปริญญาเอกเพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะมีนักศึกษาปริญญาเอกได้มากสุดถึง 5,000 คน และงานวิจัยก็ควรจะเกิดขึ้นจากนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้

"ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีประชากรในประเทศ ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่เขามีนักศึกษาปริญญาเอกถึง 60,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาฝรั่งเศสและอีกครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติเข้าไปเรียน ในแต่ละปีเขามีงานวิจัยเกิดขึ้นนับหมื่นเรื่อง และเอกชนก็สามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะส่งเสริมนักศึกษาปริญญาเอกโดยการให้ทุนการศึกษาและให้ทำงานเป็นนักวิจัยผู้ช่วย" ศ.ดร.ธีระกล่าวเปรียบเทียบ

ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ชี้แจงต่อไปว่านโยบายของประเทศไทยในสมัยก่อน ไม่ค่อยสนับสนุนนักวิจัยผู้ช่วย อีกทั้งยังขาดแรงจูงใจให้นักศึกษาเรียนต่อปริญญาโท-เอก เพื่อเป็นนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ถูกจำกัด ด้วยเนื่องจากตำแหน่งงานที่รองรับยังมีไม่เพียงพอ ค่าตอบแทนน้อยกว่าอาชีพในสาขาอื่น

"ประกอบกับเกียรติยศและการยอมรับทางสังคมด้วย เห็นได้จากนักวิจัยที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ รองรับ แต่หากเป็นนักวิจัยในสังกัดกรมหรือกองต่างๆ จะไม่มีตำแหน่งดังกล่าว ทั้งที่อาจมีความสามารถหรือความเชี่ยวชาญทัดเทียมกัน" ศ.ดร.ธีระเผย

"ถึงมี ก็จะยังมีข้อจำกัด และมีคนสนใจเรียนโท-เอกทางด้านนี้น้อย แต่เราก็ต้องพยายามผลักดันต่อไป เพื่อไม่ให้น้อยลงจนไม่เหลือเลยในอนาคต จึงต้องมีการส่งเสริมการวิจัยพื้นฐานในทุกๆ ด้าน และทาง วช. ได้สนับสนุนให้การเสนอขอทุนวิจัย จะต้องมีนักศึกษาปริญญาโทหรือเอกร่วมทำวิจัยอยู่ในโครงการด้วย มาได้ 2-3 ปีแล้ว" ศ.ดร.ธีระ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

อีกทั้ง ศ.ดร.ธีระ ยังกล่าวว่า วช.ให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้เกิดนักวิจัยผู้ช่วย ที่จะก้าวไปสู่เส้นทางนักวิจัยต่อไปในอนาคต และสร้างงานวิจัยพื้นฐานของประเทศให้เข้มแข็งและพร้อมที่เอกชนจะนำไปพัฒนาต่อยอดได้
เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งรัฐบาลของเขามีการลงทุนในการสร้างงานวิจัยพื้นฐานมามากและนานแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น