สกว.เปิดเวทีนักวิจัยรุ่นใหม่ พบนักวิจัยอาวุโส หวังรวมงานวิจัยพื้นฐาน และสร้างเครือข่ายงานวิจัยที่ใกล้เคียงกัน พร้อมฝึกนักวิจัยนำเสนอผลงานระดับชาติ ก่อนเติบโตสู่เวทีสากล เผยจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แจงนักวิจัยอายุน้อย แต่มีผลงาน ที่มากด้วยคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมจัดการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส" ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค.51 นี้ ณ โรวแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจ้นท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี โดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว.กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เดินทางไปร่วมงานด้วย ว่า การจัดงานประชุมครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อรวบรวมและเผยแพร่งานวิจัยพื้นฐานของไทยทั้งหมด และเป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.
อีกทั้ง การประชุมครั้งนี้ จะช่วยฝึกฝนนักวิจัยในการนำเสนอผลงานวิชาการระดับชาติ ก่อนเติบโตสู่เวทีประชุมวิชาการระดับนานาชาติ โดยภายในการประชุม จะนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด
ภายในงานประชุม เป็นการพบปะระหว่างนักวิจัย 2 รุ่นคือ นักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโส โดยปี 2551 นี้มีความพิเศษที่ เพิ่มนักวิจัยรุ่นกลางเข้ามาด้วย และจากการจัดงานเป็นประจำต่อเนื่องมา 8 ปี ศ.ดร.ปิยะวัติ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จำนวนนักวิจัยที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก สกว.จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัยรุ่นใหม่จะได้เห็นว่ามีเพื่อนร่วมวงการ
ด้าน ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ผอ.ฝ่ายวิชาการ สกว.ซึ่งเป็นฝ่ายจัดงานประชุมครั้งนี้ เปิดเผยว่า การประชุมนี้ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยอาวุโส เพื่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยที่ใกล้เคียงกัน โดยพยายามจัดงานที่รวมนักวิจัยทั้งหมดในสถานที่จัดงานเดียวกัน ซึ่งปีนี้ใช้พื้นที่ถึง 4 โรงแรม เพื่อให้นักวิจัยติดต่อกันได้ง่าย
นอกจากนี้ ฝ่ายจัดงานยังเผยรายชื่อและผลงานของนักวิจัยทั้งหมด เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะกันตามอัธยาศัย ทั้งนี้อาศัยเจ้าหน้าที่ สกว.เป็นผู้ดำเนินการจัดงานทั้งหมด โดยต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นปี
"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ทาง สกอ.ให้ทุนวิจัยร่วมกับ สกว.มากขึ้น จึงมีจำนวนนักวิจัยมาร่วมประชุมกันมากขึ้น โดยปีนี้มีนักวิจัยเข้าร่วมประชุมถึง 950 คน" ศ.ดร.วิชัยกล่าว และบอกด้วยว่า การนำเสนอผลงานของนักวิจัยนั้น มีทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ และมีนักวิจัยอาวุโสรับหน้าที่บรรยายนถึงงานวิจัยที่ทำ อุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงการหาทุนวิจัย ซึ่งเมื่อก่อนนั้น นักวิจัยรุ่นเก่าๆ หาทุนวิจัยได้ค่อนข้างยาก
ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า เดี๋ยวนี้นักวิจัยอาวุโส มีแนวโน้มอายุน้อยลง เมื่อก่อนจะเป็นนักวิจัยอาวุโสได้ก็มักมีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้นักวิจัยอาวุโสในวัย 40 เริ่มมีมากขึ้นแล้ว โดยการจะเป็นนักวิจัยอาวุโสได้นั้นต้องมีผลงานที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณมาก หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญโดดเด่นในสาขานั้นๆ จนเป็นที่ยอมรับ
นอกจากการนำเสนองานวิจัยในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์แล้ว ภายในการประชุมที่รวบรวมนักวิจัยทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ยังมีเสวนาและบรรยายพิเศษ อาทิ บรรยายพิเศษ "ทำอย่างไรจึงจะได้ ศ.ก่อน 40" โดย ศ.ดร.สิทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ผู้ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 35 ปีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , บรรยายพิเศษ "ทำอย่างไรจึงจะตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติที่มีผลกระทบสูง" และ เสวนา "การลดความรุนแรงในสังคมไทย : งานวิจัยต่างๆ มีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้หรือไม่?" เป็นต้น