xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์สหรัฐฯ ศึกษาชีวภูมิศาสตร์เห็ดรา เพิ่มโอกาสหาสารออกฤทธิ์ทางยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกรกอรี เอ็ม มิลเลอร์ (ภาพจากไบโอเทค)
ข้อสงสัยเห็ดที่ไหนๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร ดึงนักวิทย์มะกันลงพื้นที่ศึกษาหาต้นตอกำเนิดเห็ด และเส้นทางวิวัฒนาการ พร้อมระบุภูมิศาสตร์การกระจายตัวของเห็ด ใช้เป็นฐานการวิจัยหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดได้อย่างมีทิศทาง ด้านนักวิทย์แคนาดามุ่งศึกษาดีเอ็นเอบาร์โค้ดเห็ดรา หวังช่วยให้การจำแนกสปีชีส์ใหม่ง่ายขึ้น และใช้เป็นช่องทางตรวจวิเคราะห์เห็ดไหนกินได้หรือไม่

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดประชุมนานาชาติเรื่อง "วิวัฒนาการของเห็ดรา นับจากยุคชาร์ลส ดาร์วิน" (Fungal Evolution and Charles Darwin: From Morphology to Molecules) ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าวศาสตร์ASTVผู้จัดการวิทยา ได้เข้าร่วมฟังบรรยายพิเศษเรื่องเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์ของเห็ด (Biogeography of macrofungi: Not everything is everywhere) โดย ดร.เกรกอรี เอ็ม มิลเลอร์ (Dr. Gregory M. Mueller) สวนพฤกษศาสตร์ชิคาโก (Chicago Botanic Garden) สหรัฐอเมริกา และการทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดเห็ดรา (Adding leaves to the Fungal Tree of Life: DNA barcoding mushrooms) โดย ศ.ฌอง-มาร์ค มอลคาลโว (Prof. Jean-Marc Molcalvo) พิพิธภัณฑ์รอยัล ออนทาริโอ (Royal Ontario Museum) แคนาดา

ดร.เจเน็ท เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดรา ไบโอเทค อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เพิ่มเติมว่า ดร.มิลเลอร์ ได้ศึกษาการกระจายตัวของเห็ดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และฮาวาย เพื่อศึกษาว่าเห็ดที่พบในภูมิภาคต่างๆ นั้นมาจากไหน หรือมีกระจายตัวออกไปยังที่อื่นได้อย่างไร เพราะแต่เดิมแผ่นดินทวีปต่างๆ อยู่ติดเป็นผืนแผ่นเดียวกัน และค่อยๆ แยกตัวออกจากกันกลายเป็นหลายทวีปในเวลาต่อมา

จากการศึกษาตัวอย่างเห็ดที่พบอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่พบว่าเห็ดในแต่ละท้องที่มีลักษณะที่แตกต่างกันและเป็นสปีชีส์ที่มีความจำเพาะกับถิ่นนั้นๆ เพราะไม่พบว่ามีอยู่ในท้องถิ่นอื่น แต่เห็ดบางชนิดกลับพบอยู่ในหลายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลกัน เช่น พบทั้งบนเกาะและบนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ไกลกันมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันว่าเห็ดบนเกาะนั้นเกิดขึ้นเองบนเกาะนั้นหรือถูกนำมาจากที่อื่นและสามารถเจริญเติบโตได้บนเกาะนั้น

ทั้งนี้ การศึกษาเรื่องชีวภูมิศาสตร์ของเห็ดรา จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงวิวัฒนาการของเห็ดรามากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และการศึกษาวิวัฒนาการในอดีตของสิ่งมีชีวิตยังช่วยให้สามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคตด้วย เช่น การเกิดสปีชีส์ใหม่หรือการปรับตัวของเห็ดราต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต

นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิวัฒนาการของเห็ดรากับการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ โดย น.ส.ธิติยา บุญประเทือง ผู้ช่วยนักวิจัย และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ตัวอย่างแห้งเห็ดรา ไบโอเทค เผยว่าชนิดของเห็ดที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม ทำให้มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป และวิวัฒนาการของเห็ดแต่ละชนิดก็มีความสัมพันธ์กับการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเห็ดชนิดนั้นๆ ทำให้การวิจัยหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดสามารถทำได้สะดวกและถูกทิศทางมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาชีวภูมิศาสตร์และการกระจายตัวของเห็ดรายังเป็นเรื่องใหม่ที่มีผู้ศึกษาอยู่น้อยมาก แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านเห็ดราในต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น

ส่วนการศึกษาการทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดของเห็ดราของ ศ.มอลคาลโว นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างดีเอ็นเอบาร์โค้ดของเห็ดราแต่ละชนิดสำหรับการใช้ประโยชน์ในการจัดจำแนกสปีชีส์ของเห็ดราที่พบใหม่ เนื่องจากแต่เดิมนิยมจำแนกด้วยการดูจากสัณฐานวิทยา

แต่เมื่อพบเห็ดราชนิดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น การดูแต่ลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแยกแยะสปีชีส์ได้อย่างถูกต้อง จึงต้องจำแนกด้วยลักษณะทางพันธุกรรม และการหาดีเอ็นเอบาร์โค้ดก็จะทำให้จัดจำแนกสปีชีส์ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะตรวจวิเคราะห์ได้จากดีเอ็นเอสายสั้นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของเห็ดราแต่ละชนิด ทำให้ไม่ต้องวิเคราะห์ทั้งจีโนม

ดร.เจนนิเฟอร์ ยังบอกอีกว่า การตรวจหาดีเอ็นเอบาร์โค้ดของเห็ดจะยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทั้งในการจำแนกสปีชีส์ใหม่ และการตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ดที่ใช้เป็นอาหาร หรือใช้เป็นแหล่งผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ว่าเห็ดชนิดนี้กินได้หรือไม่ หรือสามารถสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ต้องการได้หรือไม่ เป็นต้น.
ศ.ฌอง-มาร์ค มอลคาลโว
บรรยากาศระหว่างการประชุมนานาชาติด้านเห็ดราที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
กำลังโหลดความคิดเห็น