xs
xsm
sm
md
lg

พระเทพฯ พระราชทานโล่เกียรติยศ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สกว. - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่เกียรติยศแก่เมธีวัจัยอาวุโส สกว. เพื่อเป็นเกียรติแก่นักวิจัยระดับสูงสุดของประเทศที่สร้างผลงานเด่นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.51 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ออก ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำคณะผู้บริหาร สกว. พร้อมด้วยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 จำนวน 29 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นเกียรติแด่เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่มีผลงานดีเด่นสูงสุดของประเทศในสาขาต่างๆ

ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กราบบังคมทูลรายงานว่า ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย ซึ่งเป็นทุนระดับสูงสุดของ สกว. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อระดมนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นสูงสุดของประเทศในสาขาต่างๆ มาช่วยกันสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง โดยเน้นหนักในการพัฒนาทีมวิจัย พัฒนาผลงาน และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างศักยภาพเชิงปัญญาระยะยาวของชาติ และยกย่องให้ผู้ที่ได้รับทุนเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.”

ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้เริ่มให้ทุนแก่เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับทุนจำนวน 157 ทุน ซึ่งเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าจากหลากหลายสาขาวิชา มีเครือข่ายวิจัยกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ จึงสามารถสร้างกลุ่มวิจัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยขณะนี้มีนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลางจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมทีมวิจัยกับเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และมีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาผลงานวิจัยจนก้าวสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพที่สร้างทีมวิจัยของตนเองขึ้นได้ และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้วย

จากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของกลุ่มนักวิจัยเหล่านี้ ทำให้สามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง และตอบโจทย์วิจัยได้อย่างแท้จริง โดยแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ทั้งบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ผลงานเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือทั้งในและต่างประเทศ การจดสิทธิบัตร รวมทั้งการนำผลงานไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย

จากนั้น ศาสตราจารย์ ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง “งานวิจัยพื้นฐาน: ฐานรากของการพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยแบ่งเป็น 3 เล่ม คือ 1) การวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาพ 2) การวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาการเกษตร และ 3) การวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ซึ่งหนังสือชุดนี้เป็นเสมือนเหมืองเพชรที่เปี่ยมด้วยความรู้ฝังลึกของเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และชี้ให้เห็นวิธีมองภาพใหญ่และการตั้งโจทย์วิจัยที่มีคุณค่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของนักวิจัยรุ่นใหม่

หลังเสร็จพิธีพระราชทานโล่เกียรติยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งกับผู้บริหาร สกว. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ความว่า นักวิจัยไทยควรจะศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศ ดังเช่นที่พระองค์เคยเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย อีกทั้งทรงชี้แนะให้จัดทำคู่มือศึกษาขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงสีข้าวชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านใช้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังสนพระทัยงานวิจัยด้านการศึกษาวิธีการเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมสำหรับผู้เป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่ง ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาสรีรวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล น้อมรับไปขยายผลงานวิจัยต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศ.ดร.นทีทิพย์ได้ร่วมกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล ได้ร่วมกันเขียนบทความเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนในหนังสืองานวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาพด้วย
เมธีวิจัยอาุวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ผอ.ฝ่ายวิชาการ สกว. ร่วมแสดงความยินดีกับ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
กำลังโหลดความคิดเห็น