xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์รามาเจ๋ง! ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้องสำเร็จรายแรกในเอเชียอาคเนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์รามาฯ เจ๋ง! ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้อง Endoscope วิทยาการใหม่จากเยอรมนีได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกในเอเชียอาคเนย์ แพทย์ชี้เจ็บน้อยกว่า ถูกกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า เผยคนไข้บัตรทองเข้ารักษาได้ พร้อมย้ำ ผ่าตัดแล้วสามารถเป็นได้อีก 6% แนะป้องกันดีกว่าแก้ไข

วันนี้ (19 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น.คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าวความสำเร็จในการผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยกล้อง Endoscope ได้เป็นผลสำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ไปศึกษาวิธีการผ่าตัดล่าสุดในประเทศเยอรมนี

ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การผ่าตัดวิธีใหม่ด้วยกล้อง Endoscope นี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่จากประเทศเยอรมนี โดยความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีการใช้ผ่าตัดในคนไข้สำเร็จแล้ว 1 ราย และพร้อมแล้วที่จะนำมาใช้กับคนไทย

“วิทยาการสมัยใหม่นี้จะทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กไม่ถึงเซนติเมตรเพียง 6-8 มิลลิเมตร ไม่มีร่องรอยการเจ็บปวด นับเป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ที่นิยมใช้กันทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนแพทย์อย่างโรงพยาบาลรามา และสถานพยาบาลเอกชนอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพ ในการนำความรู้ที่ใหม่มาใช้กับคนไข้ โดยให้มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีการนี้สำเร็จ” ศาสตราจารย์รัชตะ กล่าว

นายแพทย์วีรพันธ์ ควรทรงธรรม อาจารย์แพทย์หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคนไข้คนไทยรายแรกที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope กล่าวว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจาก การออกกำลังกายหนักเกินไป หรืออยู่ในท่าที่ผิด การใช้หลังผิดประเภท เช่น ยกหนักหรือยกของผิดท่า การนั่งก้มตัวอยู่ตลอดเวลา หรือการออกกำลังกายที่ผิดท่า อีกทั้งในคนที่น้ำหนักตัวมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการกดทับของหมอนรองกระดูกได้ ซึ่งอาการของโรคนี้จะสะสม ค่อยเป็นค่อยไปมิได้เป็นในคราวเดียว ดังนั้น อาการที่พบ คือ ปวดหลังร้าวลงขา มีอาการชาตั้งแต่เอวลงขา หรือหลังเท้า กล้ามเนื้อบริเวณขาอ่อนแรง การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระผิดปกติ

สำหรับการรักษาจะเป็นตามลักษณะอาการ หากไม่รุนแรงจะให้รับประทานยา ฉีดยาลดการอักเสบ และทำกายภาพบำบัด อาการจะดีขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดนั้น ในการผ่าตัดเดิมเป็นการใช้กล้อง Microscope โดยจะอยู่นอกร่างกายผู้ป่วย แล้วทำการผ่าตัดแผลขนาด 3-5 เซนติเมตร จากนั้นใส่อุปกรณ์เพื่อเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเป็นแนวยาว และทำการตัดกระดูกออกเป็นบางส่วน เพื่อให้สามารถผ่าตัดในตำแหน่งที่มีการกดทับของเส้นประสาทได้ ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาในการผ่าตัดนานร่วม 2 ชั่วโมง และผลการผ่าตัดอาจจะทำให้อวัยวะข้างเคียงที่เสียหายคือ หลัง กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อซึ่งจะได้รับการเจ็บปวด ทำให้ต้องนอนในโรงพยาบาลหลายวัน ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่าย

นายแพทย์วีรพันธ์ กล่าวต่อไปว่า วิทยาการผ่าตัดแบบใหม่ด้วยกล้อง Endoscope จะแตกต่างจากวิธีการเดิม เนื่องจากกล้องที่ใช้ส่องในการผ่าตัดจะเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย โดยแหวกชั้นกล้ามเนื้อ โดยจะทำให้เห็นตำแหน่งการกดทับเส้นประสาทได้แม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องเลาะกล้ามเนื้อ ตัดกระดูก หรือทำให้แผลมีขนาดใหญ่

“วิธีนี้คนไข้จะเจ็บตัวน้อย และฟื้นตัวเร็ว อวัยวะอื่นๆ ไม่มีผลข้างเคียง โดยใช้เวลาพักฟื้นเพียงแค่ 1 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดคนไข้รายแรกในไทยนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่คาดว่าเมื่อทีมแพทย์คล่องตัวแล้วจะใช้น้อยกว่านี้ เพราะแพทย์ชาวเยอรมันเจ้าของแนวคิดนี้ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น ซึ่งก่อนจะผ่าตัดหมอจะซักประวัติ สอบถามอาการ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และเอ็กซ์เรย์ก่อนมิใช่ว่าจะผ่าตัดได้ทุกคน เพราะหากมีอาการที่สามารถทำกายภาพแล้วดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ไม่ว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีใด โอกาสที่คนไข้จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกมีประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นทางที่ดีต้องหาทางป้องกันไว้ดีกว่า” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษา นายแพทย์วีรพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดราคาที่แน่ชัด แต่คาดว่าค่ารักษาจะไม่สูงกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เนื่องจากระยะเวลาการรักษาและพักฟื้นน้อยกว่า ซึ่งคนไข้ในใช้บริการ 30 บาท รักษาทุกโรคก็สามารถที่จะรับบริการการผ่าตัดนี้ได้ เพราะเรามุ่งหวังที่จะให้บริการทางการแพทย์กับผู้ป่วยให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เร็วๆ นี้ จะมีการเผยแพร่ความรู้ให้แก่แพทย์ในโรงเรียนแพทย์โดยการสาธิตการผ่าตัดในศพก่อน และจะมีบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลกรุงเทพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น