xs
xsm
sm
md
lg

พม่าปฏิเสธแพทย์ไทยชุด 3 ช่วยเหยื่อนาร์กีส อ้างดูแลคนป่วยเองได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พม่าปิดรับความช่วยเหลือจากทีมแพทย์พระราชทานไทยชุดที่ 3 ช่วยเหยื่อนาร์กีส ให้เหตุผลสามารถช่วยเหลือรักษาดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยได้แล้ว ด้าน รพ.รามาฯ มอบเสื้อสามารถให้ทีมแพทย์-พยาบาล 6 คนที่กลับจากช่วยเหลือพม่า

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากการทางการพม่าว่า สามารถให้การช่วยเหลือรักษาดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยจากพายุไซโคลนนาร์กีสได้แล้วจึงไม่รับความช่วยเหลือด้านการแพทย์จากประเทศไทยเป็นชุดที่ 3

ทั้งนี้ สธ.ได้ประสานกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และแพทย์จากโรงพยาบาลสังกัด สธ.ส่งไปช่วยเหลือพม่าแล้วรวม 2 ทีม ชุดละ 30 คน ปฏิบัติงานในฐานะหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทีมละ 14 วัน ซึ่งทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ โดยวันที่ 15 มิ.ย.จะเดินทางด้วยสายการบินไทยถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในเวลา 11.00 น. และ 21.45 น.และมีบางส่วนเดินทางถึงในช่วงเช้าวันที่ 16 มิ.ย.นี้

สำหรับทีมแพทย์ไทยถือเป็นชาติแรกที่พม่าอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุนาร์กีสที่เมืองเมียวเมี้ยะและลาบุดทา ซึ่งห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะทาง 160 กิโลเมตร

วันเดียวกัน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มอบเสื้อสามารถให้ทีมแพทย์และพยาบาล 6 คน ที่กลับจากช่วยผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสที่สหภาพพม่า ประกอบด้วย ผศ.นพ.วิชัย พันธุ์ศรีมังกร ผศ.นพ.อัฉริย สาโรวาท ผศ.นพ.วรสรวง ทองสุข นพ.อุกฤษฏ์ คุณาธรรม นายวัชรินทร์ เลิศสงคราม นายเสริมเกียรติ์ ไกรทองสุข เพื่อเชิดชูเกียรติในความเสียสละและมีสปิริตเป็นอาสาสมัครไปช่วยชาวพม่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ขาดข้อมูลในพื้นที่ โดยทีมแพทย์พยาบาลรามาธิบดี ปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จน่ายกย่อง

ด้าน ผศ.นพ.วิชัย กล่าวในการบรรยายปฏิบัติการช่วยชีวิต “คราวนี้ที่พม่า คราวหน้าอาจเป็น ...” ว่า พายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มพม่าเมื่อวันที่ 2 พ.ค. เวลา 13.00-14.00 น. และสิ้นสุด เมื่อเวลา 0 2.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ด้วยความเร็วลม 150-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางที่พายุพัดผ่านได้รับความรุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิ 20-30 เท่า ซึ่งการไปช่วยชาวพม่าครั้งนี้ทำให้ทีมแพทย์ได้ประสบการณ์ในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะภัยพิบัติ และเหนือสิ่งอื่นใด คือการพิสูจน์ตัวเองในช่วง 14 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น