ชาวพม่าประทับใจบริการหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นอย่างมาก ผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กีส ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เจ็บป่วย 2,543 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ เริ่มพบผู้ป่วยปอดบวม ปอดอักเสบ นอกจากนี้ ทีมแพทย์ไทยยังช่วยพม่าผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่โรงพยาบาลเมียเมี๊ยด้วย ด้านสธ.ประสานพม่า เตรียมจัดส่งหน่วยแพทย์ -พยาบาล ชุดที่ 2 จำนวน 30 คน เพิ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูชุมชน เดินทางไปพม่า ต้นมิ.ย.นี้
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่าว่า
ได้รับรายงานจากนพ.พิชิต ศิริวรรณ หัวหน้าคณะแพทย์ไทย ว่าตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์แรก ตั้งแต่วันที่ 19-24 พฤษภาคม 2551 หน่วยแพทย์ได้ตรวจรักษาชาวพม่าในเมืองเมียเมี้ยทั้งหมด 2,543 ราย เป็นชาย 1,058 ราย หญิง 1,102 ราย โรคที่พบส่วนใหญ่คือ ไข้หวัด ร้อยละ 66 และเริ่มพบผู้ป่วยโรคปอดบวม ปอดอักเสบจำนวน 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติที่พบได้ทั่วไป นอกจากนี้ พบป่วยจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ 244 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 โรคอุจจาระร่วง 180 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 แผลอักเสบติดเชื้อ ร้อยละ 4 ยังไม่พบโรคมาลาเรีย
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สื่อมวลชนของพม่าได้เผยแพร่ภาพข่าวการปฏิบัติงานให้บริการของหน่วยแพทย์พระราชทานฯ จากไทย พบว่าได้รับความชื่นชอบจากประชาชนชาวพม่าอย่างมาก โดยคณะแพทย์ไทยได้เดินทางไปโรงพยาบาลเมียเมี้ย (Myaungmya) พร้อมด้วยนายแพทย์กิมหม่อง (Dr.Krimmonglw) แพทย์ประจำโรงพยาบาลดังกล่าว โดยได้ร่วมประชุมกับคณะแพทย์พม่า และได้มอบเวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการจัดสร้างห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้วย โดยคณะแพทย์ไทยจะช่วยแพทย์พม่าในการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่ง (Cleft Lip) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่โรงพยาบาลเมียเมี้ยด้วย
ด้านนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย รักษาการณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการประสานกับสหภาพพม่า เรื่องจัดส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ชุดที่ 2 อีกจำนวน 30 คน เพื่อเปลี่ยนกับหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดแรก ที่วีซ่าจะหมดอายุ ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทีม โดยจะมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของกรมอนามัย รวมอยู่ในทีม 2-3 คน เพื่อดูแลฟื้นฟูสภาพชุมชน หมู่บ้าน ด้านสุขาภิบาล พร้อมแพทย์ในด้านต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาล เดินทางร่วมทีมไปด้วยเช่นเดิม ซึ่งจะพร้อมเดินทางในช่วงต้นเดือน มิถุนายน นี้