นักวิทย์โนเบลผู้พบ "ยีนสั่งตาย" เดินสายบรรยายพิเศษในไทย ชี้วิจัยพื้นฐานจำเป็นมาก แนะรัฐบาลทั่วโลกต้องเห็นคุณค่า และสนับสนุนอย่างเหมาะสม แม้ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหา ยกสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง ประเทศเล็กก็จริง แต่เพราะเล็งเห็นว่าพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีก็ไม่เกิดการประยุกต์
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด โรเบิร์ต ฮอร์วิตซ์ (Professor Howard Robert Horvitz) นักชีววิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ประจำปี 2543 ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเรื่อง "ศาสตร์ทางด้านชีวการแพทย์ เพื่อสุขภาพและสันติภาพของโลก" (Biomedical science, world health and world peace) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.52 ที่ผ่าน ณ สำนักงานงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (The International Peace Foundation) จัดขึ้นร่วมกับ สวทช.
ศาสตราจารย์ฮอร์วิตซ์ เป็นนักชีววิทยาชาวอเมริกัน ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาโมเลกุล ชีวเคมี รวมถึงด้านเภสัชศาสตร์ โดยเขาสนใจศึกษายีนในหนอนตัวกลม (Caenorhabditis elegans) จนในปี 2529 เขาค้นพบ "เดธ ยีนส์" (death genes) หรือ "ยีนสั่งตาย" ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้เซลล์ตายในหนอนตัวกลม จำนวน 2 ยีน ได้แก่ เคด-3 (ced-3) และเคด-4 (ced-4) และอีกไม่นานหลังจากนั้นก็พบยีน เคด-9 (ced-9) ซึ่งเป็นยีนที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ตายจากการแสดงออกของ 2 ยีนข้างต้น
การค้นพบดังกล่าว เป็นพื้นฐานของการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการตายของเซลล์ในมนุษย์ในเวลาต่อมา โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าในเซลล์ของคนเราก็มีระบบยีนที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกับยีนที่เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์ในหนอนตัวกลม ซึ่งกระบวนการที่มีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นและเซลล์เก่าค่อยๆตายไป เป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันไปจนตลอดชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของยีนเหล่านี้มากขึ้น
เมื่อใดที่เกิดความผิดปรกติกับยีนในกระบวนการตายของเซลล์ และทำให้เซลล์ในร่างกายตายมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคตับอักเสบซี, โรคเอดส์ แต่หากความผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับยีนดังกล่าวส่งผลให้เซลล์ตายน้อยกว่าที่ควรเป็น ก็จะทำให้เกิดมะเร็ง หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกเหล่านี้มากขึ้น ก็จะช่วยนำไปสู่การค้นพบวิธีรักษาได้ในที่สุด
ในการบรรยายครั้งนี้ ศาสตราจารย์ฮอร์วิตซ์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยพื้นฐาน โดยบอกว่างานวิจัยพื้นฐานจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดองค์ความรู้และการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งที่เขาศึกษานั้นก็เป็นงานวิจัยพื้นฐานเช่นกัน และยังกล่าวเน้นด้วยว่า "รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ต้องให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยพื้นฐานอย่างเหมาะสม"
เขาบอกว่า แม้แต่ในสหรัฐฯเองก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการสนับสนุนวิจัยพื้นฐาน แต่โชคดีที่ว่าในสหรัฐฯมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาเล็งเห็นมูลค่าที่เกิดจากการวิจัยพื้นฐาน จึงช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยพื้นฐานได้มาก และนำไปสู่การต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ลงนามยกเลิกการห้ามรัฐบาลสนับสนุนวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการส่งเสริมด้านการวิจัยของสหรัฐฯ
สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา และมีการสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานไม่มากพอ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลให้คำแนะนำโดยยกประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เขาบอกว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ แต่เขาสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานอย่างมาก เพราะเขาเข้าใจและเล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยพื้นฐาน หากไม่มีการวิจัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ก็จะไม่เกิดการประยุกต์ ต่อยอด และพัฒนาสิ่งต่างๆได้
ทางด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์หลังจากฟังการบรรยายครั้งนี้ ว่า ในการจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมบนฐานความรู้ จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนด้านต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยก็ให้การสนับสนุนตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ เผยแพร่ความรู้ และทำให้เกิดมูลค่า ซึ่งคนไทยเก่งมากในสองเรื่องหลัง แต่ยังขาดการสร้างความรู้อย่างมาก แต่ถ้าเราสามารถทำได้ทุกด้านอย่างเหมาะสม เราก็จะมีความเข้มแข็งพอและมีภูมิคุ้มกันเป็นของตัวเอง
"ไทยลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพียง 0.26% ของจีดีพี แต่สัดส่วนที่เหมาะสมกับไทยน่าจะประมาณ 1.5% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาจะลงทุนด้านนี้ถึง 3.0% เพราะฉะนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันลงทุนวิจัยพัฒนาให้มากขึ้น รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยพื้นฐานในสัดส่วนที่เหมาะสมมากกว่านี้ เพราะเราจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้เป็นของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาเศรษฐกิจของชาติไปได้บนฐานความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง" ผอ.สวทช. กล่าว.