xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์โนเบลคอนเฟิร์ม "งานวิจัยพื้นฐาน" สร้างสันติภาพให้สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์โรเจอร์ เดวิด คอนเบิร์ก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ระบุว่างานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะองค์ความรู้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ และนำพาสังคมไปสู่สันติภาพได้
"โรเจอร์ คอร์นเบิร์ก" นักวิทย์โนเบลเคมีเยือนไทย เผยวิจัยพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง ไม่ว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐาน รัฐบาลต้องสนับสนุน ระบุวิทยาศาสตร์เป็นสากล มีเหตุและผล ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือศาสนา และจะเป็นสะพานนำไปสู่ความสำเร็จและสันติภาพในสังคม

ศ.โรเจอร์ เดวิด คอร์นเบิร์ก (Professor Roger David Kornberg) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2549 ได้รับเชิญมาบรรยายพิเศษเรื่อง "Science as a basis for bridging between cultures and fostering peace and development" ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (The International Peace Foundation) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล

ศ.คอนเบิร์ก กล่าวว่า งานวิจัยพื้นฐานไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเมือง หรือศาสนา แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่มีเหตุมีผล และเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านการแพทย์ คุณภาพชีวิต อุตสาหกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การที่วิลเฮล์ม เรนต์เกน (Wilhelm Roentgen) ค้นพบรังสีเอ็กซ์ หรือการค้นพบเพนิซิลินโดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming)

วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่เป็นสากล มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นปัจเจก งานวิจัยพื้นฐานเป็นสะพานที่จะช่วยให้เราเข้าใจกลไกของธรรมชาติมากขึ้น องค์ความรู้ที่ได้นั้นก็สามารถนำมาใช้ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมได้ ซึ่งจะนำพาให้สังคมเกิดความสงบสุขและมีสันติภาพ

รัฐบาลควรให้การสนับสนุนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้ายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ก็ควรจะต้องให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานด้วยกันทั้งนั้น และมุ่งสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องดำรงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ให้สูญหายด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ศ.คอร์นเบิร์ก ทำงานทางด้านชีวเคมีอยู่ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University's School of Medicine) สหรัฐอเมริกา เขาศึกษาเกี่ยวกับการถอดแบบของยูคาริโอต (eukaryotic transcription) นานนับสิบปี กระทั่งค้นพบกลไกการคัดลอกรหัสดีเอ็นเอ (DNA) ออกมาเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA) แล้วสังเคราะห์ได้เป็นโปรตีน ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความเข้าใจกระบวนการของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการของการเกิดโรค และนำไปสู่การค้นพบวิธีรักษาที่ได้ผล

การค้นพบดังกล่าวส่งผลให้คอนเบิร์กได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี 2549 ตามรอยพ่อของเขา อาร์เธอร์ คอร์นเบิร์ก (Arthur Kornberg) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ในปี 2502

รศ.ดร.อรพรรณ มาตังคสมบัติ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ศ.คอนเบิร์ก ชี้ให้เห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์สอนให้เข้าใจในเหตุและผล ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องท่องจำ และหลักการมีเหตุและผลนี้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์

"แม้ในทางศาสนาหรือสันติภาพ หากเราอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุผล ก็จะเกิดความสงบสุข และสามารถนำพาสังคมไปสู่ความสำเร็จได้" รศ.ดร.อรพรรณ กล่าว

ส่วน ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทย (ทีเซลส์) กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ศ.คอนเบิร์ก ได้รับรางวัลโนเบลจากการวิจัยพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานวิจัยพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่เกิดจากความสงสัยอยากรู้เป็นพื้นฐาน ไม่ได้เกิดจากความอยากรวย

เพราะฉะนั้นที่มักเข้าใจว่าทำงานวิจัยพื้นฐานเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งนั้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง หากมีการศึกษาวิจัยจนเกิดองค์ความรู้แล้ว ในที่สุดก็ต้องมีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จนได้ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่เราจะมีองค์ความรู้นั้นหรือไม่ต่างหาก และการศึกษาวิจัยก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

"การศึกษาวิจัยไม่ได้จำกัดว่าจะทำได้เฉพาะประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น ยิ่งประเทศที่ยากจนยิ่งต้องลงทุนในด้านการวิจัย มิฉะนั้นจะยิ่งมีแต่จนลงเรื่อยๆ" ศ.ดร.พรชัย กล่าว

ด้าน น.ส.สิริกุล ฐานพงษ์ และ น.ส.กัญญารัตน์ โอฬาระชิน นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา บอกว่า ทราบข่าวงานนี้จากอาจารย์ที่โรงเรียนก็รู้สึกสนใจอยากมาฟังนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลบรรยายพิเศษ แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็ทำให้รู้ว่างานวิจัยพื้นฐานนั้นป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาต่อยอด นอกจากนั้นยังได้รู้ว่าการเริ่มต้นสนใจจุดเล็กๆ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมมากขึ้นก็สามารถประสบความสำเร็จได้

ส่วนนายศิรสิทธิ์ สุชาติลิขิตวงศ์, นายวรพันธ์ พุทธศักดา และนายปุณณพัฒน์ อยู่คง 3 หนุ่มจากโรงเรียนเดียวกัน พูดถึงความรู้สึกภายหลังฟังการบรรยายว่า สิ่งแรกที่ตระหนักได้คือเราต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคในการเรียนรู้ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับ ศ.คอนเบิร์ก

น้องๆ กลุ่มนี้ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะท่องจำจากการอ่านตำรา ขาดการส่งเสริมกระบวนการคิด และยังขาดอาชีพที่รองรับผู้ที่เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะวิทยาศาสตร์สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาในหลายด้าน.
รศ.ดร.อรพรรณ และ ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ (2 คนด้านซ้ายสุด) ร่วมถ่ายภาพกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล โรเจอร์ เดวิด คอนเบิร์ก (กลาง)
น.ส.สิริกุล ฐานพงษ์ และ น.ส.กัญญารัตน์ โอฬาระชิน
(จากซ้าย) นายศิรสิทธิ์ สุชาติลิขิตวงศ์, นายปุณณพัฒน์ อยู่คง และนายวรพันธ์ พุทธศักดา
กำลังโหลดความคิดเห็น