ทีเซลส์ระดมผลงานชีววิทยาศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมจัดแสดงใน "ไบโอเอเชีย 2008" เพียบ เผยไฮไลต์เป็นงานวิจัยการค้นพบยีน แพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ พร้อมโชว์เครื่องตรวจหายีนแพ้ยาดังกล่าวเครื่องแรกของไทย ที่ร่วมสร้างกับนักวิจัยญี่ปุ่น เต็มอิ่มกับบรรยายพิเศษในหัวเรื่องน่ารู้จากนักวิจัยแถวหน้าของโลกอีกหลายคน ทั้งนักวิทย์โนเบลแพทย์ปีล่าสุด และนักวิทย์ผู้เขียน "เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ"
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.51 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลส์) พร้อมด้วยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวการจัดงาน "ไบโอเอเชีย" (BioAsia 2008) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยรวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศมาจัดแสดง พร้อมการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิจัยระดับโลกอีกหลายคน
ศ.เกียรติคุณ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ ทีเซลส์ กล่าวว่า งานไบโอเอเชีย 2008 นี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัย ในด้านชีววิทยาศาสตร์ และก่อให้เกิดความร่วมมือ การสร้างกลไก และสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย นักพัฒนา และนักลงทุน เพื่อที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้อย่างแท้จริง
"ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ ความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักลงทุนของไทยและของต่างชาติ เพราะบางเรื่องเราอาจไม่สามารถทำได้โดยลำพัง และไทยเราก็ยังมีข้อด้อยในเรื่องการเชื่อมโยงงานวิจัย ไปสู่การพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศ" ดร.พรชัยกล่าว พร้อมบอกต่อว่าอยากเห็นประเทศไทยและอื่นๆ ในเอเชียนำความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในงานนี้ยังมี ดร.ฮวน เอนริเกซ์ (Dr. Juan Enriquez) นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ผู้อำนวยการก่อตั้งโครงการชีววิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้เขียนหนังสือเรื่อง "เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ" (As The Future Catches You) มาร่วมในงานแถลงข่าวด้วย ซึ่ง ดร.เอนริเกซ์ จะมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง "ชีววิทยาศาสตร์เปลี่ยนเศรษฐกิจโกลได้อย่างไร" ในงานไบโอเอเชีย 2008 วันที่ 25 พ.ย. นี้
ดร.เอนริเกซ์ กล่าวว่า ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราพัฒนาสิ่งต่างๆ ของประเทศได้ หากประเทศไทยต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้แข่งขันกับต่างชาติได้ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จะต้องมุ่งพัฒนาทรัพยากรคน และพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ
พร้อมกันนี้ เขาได้ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับภาพความซับซ้อน ยุ่งเหยิง ทั้งในเรื่องการเมือง ศาสนา สภาพสังคม และคนอดอยากหิวโหยมากมาย แต่ในความยุ่งเหยิงเหล่านั้นเขาสามารถรวมตัวกันและพัฒนาประเทศได้ จนปัจจุบันอินเดียจัดเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ดร.เอนริเกซ์ ยกตัวอย่างความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของโลกได้ เช่น งานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีการเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้ย้อนกลับไปเป็นเซลล์ต้นกำเนิดได้แล้ว ขณะเดียวกันก็มีผู้ศึกษาทดลองนำเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ไปปลูกถ่ายเป็นเนื้อเยื่ออวัยวะส่วนอื่นได้ หากสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคต ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ส่วนผู้ที่มีความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ในมือ ก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งได้
ด้านนายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของปิโก เปิดเผยว่า ภายในงานไบโอเอเชีย จะมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการด้านชีววิทยาศาสตร์กว่า 109 บูธ จากองค์กรภาครัฐและเอกชนของทั้งในและต่างประเทศกว่า 50 องค์กร มีการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งในรูปแบบโปสเตอร์และการประชุมสัมมนากว่า 170 เรื่อง และการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ ดร.ฮวน เอนริเกซ์
ศ.ดร.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยมะเร็ง ประเทศเยอรมนี และเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบไวรัสต้นตอการเกิดมะเร็งปากมดลูกและนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำเร็จ ซึ่งจะมาบรรยายเรื่อง "วัคซีนใหม่สำหรับมะเร็งปากมดลูก", ดร.การี่ สมอล ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและชีวพฤติกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ชราภาพ ยูซีแอลเอ และ ดร.โรเบิร์ต ริดลีย์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและฝึกอบรมพิเศษโรคเขตร้อน องค์การอนามัยโลก เป็นต้น
สำหรับไฮไลต์ภายในงานไบโอเอเชีย 2008 ได้แก่ ผลงานการค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ การค้นพบยีนแพ้ยาต้านโรคมะเร็งในคนไทย การจัดแสดงเครื่องมือตรวจหายีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์เครื่องแรกในประเทศไทย เครื่องเก็บข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยและโปรแกรมฐานข้อมูลผู้ป่วนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนาครีมหน้าขาวจากยางพารา การบรรยายความจำชราภาพ, การชะลอความชรา งานวิจัยค้นหาสารต้านเชื้อไข้เลือดออก การควบคุมยุงลาย เป็นต้น.