ทีเซลส์รับไม้ไบโอเทคจัดงานไบโอเอเชีย 2008 ชวนนักลงทุนต่างชาติลงทุนต่อยอดงานวิจัยไทย นพ.ธงชัยชี้ไทยมีงานวิจัยพร้อมมูล อีกทั้งภาครัฐให้การสนับสนุน ทว่าไม่ค่อยมีเอกชนรับไปดำเนินการ ฟุ้งเป็นเวทีสร้างความเชื่อมโยงนานาชาติ นำสังคมไทยสู่สังคมฐานความรู้ มีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหัวหอกขับดัน คาดเกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 50 โครงการ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลส์) แถลงข่าวจัดงานไบโอเอเชีย 2008 (BioAsia 2008) ครั้งที่ 2 ของประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.51 ณ โรงแรมโฟร์ ซีซันส์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ โดยมี นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผอ.ทีเซลส์ ร่วมให้รายละเอียดแก่ผู้สื่อข่าว ซึ่งมีผู้จัดการวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย
นพ.ธงชัย เผยว่า การจัดงานดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.51 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จุดประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชนจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเวทีเพื่อให้นักลงทุนนานาชาติได้เห็นศักยภาพงานวิจัยไทยพร้อมจับคู่นำไปสู่การลงทุน ซึ่งไทยมีงานวิจัยชีววิทยาศาสตร์ระดับโลกมากมายรองรับการลงทุน
ไฮไลต์ภายในงานไบโอเอเชีย 2008 ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษของ ดร.ฮวน เอนริเควซ ผู้ก่อตั้งโครงการชีววิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้เขียนหนังสือ "เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ" ในหัวข้อ "บทบาทของธุรกิจชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพในระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ในอนาคตในระดับนานาชาติ"
การบรรยายพิเศษของ นพ.ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเซน ผู้ค้นพบไวรัสต้นตอของโรคมะเร็งปากมดลูกและพัฒนาวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจนสำเร็จเป็นรายแรก และศ.ดร.การี สมอล นักวิจัยแถวหน้าด้านโรคชราและโรคที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ
นอกจากนั้นยังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการชีววิทยาศาสตร์กว่า 120 รายจาก 20 ประเทศ รวมถึงการแสดงศักยภาพงานวิจัยไทยที่พร้อมสำหรับการลงทุน อาทิ งานวิจัยเรื่องโรคเอดส์ ซึ่งทีเซลส์ได้รับการสนับสนุนกว่า 700 ล้านบาทจากสถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมา การแสดงผลงานวิจัยเรื่องข้าว ยางพารา ปลา กุ้ง ตลอดจนถึงวัคซีนและชุดตรวจโรคไข้เลือดออกและโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น ฯลฯ
นพ.ธงชัย ตั้งเป้าหมายของการจัดงานด้วยว่า จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงด้านชีววิทยาศาสตร์และการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ อันจะเป็นช่องทางหนึ่งของการผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมฐานความรู้ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหัวหอกสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่หันมาให้การสนับสนุนมากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งต้องเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยองค์ความรู้มากกว่าระบบเดิมๆ ที่ห้ำหั่นกันด้วยราคาเป็นหลัก
ทั้งนี้ การจัดงานไบโอเอเชียจัดครั้งแรกเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นเจ้าภาพ โดยมีการประมาณการว่าตลาดชีววิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านล้านบาทอยู่ในเอเซีย ซึ่งในการหารือร่วมกันครั้งล่าสุด ทีเซลส์ได้รับมอบหมายให้จัดงาน คาดว่าจะมีนักวิจัยและนักลงทุนร่วมงานไม่น้อยกว่า 5,000 คน และทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 50 โครงการ
ขณะที่ ดร.พิเชฐ อิฐกอ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทยบ้างว่า มีการเปิดหลักสูตรการสอนด้านเทคโนโลยีชีวภาพครั้งแรกในปี 2526 และเปิดสอนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเปิดสอนในมหาวิทยาลัย 24 แห่ง แบ่งเป็นอัตราการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี 900 คน/ปี ระดับปริญญาโท 400 คน/ปี และระดับปริญญาเอก 40 คน/ปี ทว่าเมื่อนับรวมทั้งหมดพบว่า จำนวนนักวิจัยไทยยังมีอยู่น้อยมาก เพียง 3.3 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น
ดร.พิเชฐ ให้ข้อมูลต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก และหากนับรวมสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งเดียว ประเทศไทยจะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 5 โดยไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ 7-10% ของโลก ทั้งพันธุ์พืช แมลง ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเชื้อรา ปัจจุบัน มีบริษัทที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีชีวภาพในไทยแล้ว 171 บริษัท ในจำนวนนี้ 132 แห่งได้รับการรับรองหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (จีเอ็มพี) แล้ว ขณะเดียวกันยังมีผู้ผลิตยาสมุนไพรอีก 271 ราย แต่ได้รับการรับรองจีเอ็มพีเพียง 4 รายเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของการจัดงานไบโอเอเชีย 2008 เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bioasiabangkok2008.com หรือสอบถามที่ info@bioasiabangkok2008.com หรือโทรศัพท์ 0-2748-7007 ต่อ 129.