xs
xsm
sm
md
lg

"จัดยาตามยีน" เทคโนโลยีใหม่ช่วยผู้ป่วยเอดส์ไม่ต้องเสี่ยงแพ้ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผอ.ทีเซลส์ (ขวาสุด) เป็นผู้ดำเนินรายการให้กับการบรรยายเรื่อง Personalized Medicine: จัดยาตามยีน...ชาวเอดส์ไทยได้ประโยชน์ก่อน
ผู้ป่วยเอดส์ชาวไทย อาจไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการแพ้ยาอีกต่อไป เมื่อคณะนักวิจัย ในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ของโรงพยาบาลรามาธิบดีค้นพบยีน ที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาเนวิราพีนในผู้ป่วยเอดส์ ทั้งยังร่วมกับญี่ปุ่นพัฒนาเป็นชุดตรวจสำเร็จรูป สำหรับคัดกรองผู้ป่วยเพื่อจัดยาที่เหมาะกับยีน เตรียมนำเข้าเครื่องและชุดตรวจมาทดสอบทางคลินิกอีก 1 ปี ก่อนใช้งานจริง

เพราะการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไปมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ผู้ป่วยเอดส์อาจต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสที่ไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสเอชไอวีในร่างกาย

แต่ก็มีผู้ป่วยเอดส์จำนวนไม่น้อย ที่ต้องทนทรมานจากการแพ้ยาเหล่านั้น โดยที่แพทย์เองก็ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า ว่าผู้ป่วยรายใดจะแสดงอาการแพ้ยา ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการการรักษา ทั้งยังสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายเรื่อง "Personalized Medicine: จัดยาตามยีน...ชาวเอดส์ไทยได้ประโยชน์ก่อน" ของโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ขอวงประเทสไทย (ทีเซลส์) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.51 ที่ผ่านมาภายในงานทีเซลส์เดย์ (TCELS Day) ก็ได้รู้ว่า ผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย กำลังจะได้รับโอกาสที่ดีในการรักษาและเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล และผอ.โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ เผยว่า นับตั้งแต่เชื้อเอชไอวีแพร่ระบาดสู่ประเทศไทยเมื่อราว 20 ปีก่อน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อดังกล่าวแล้วประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนอีก 5 แสนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ในจำนวนนี้มี 1 แสนคนที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส

"ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ใช้อยู่แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 (First-line ARV) เป็นยาที่มีราคาถูกกว่า โดยมีผู้ป่วยที่ยังได้รับยานี้อยู่ประมาณ 96% อีก 4% ต้องให้ยาชุดที่ 2 (Second-line ARV) เนื่องจากยาชุดที่ 1 ใช้ไม่ได้ผลแล้ว และยาชุดที่ 2 นี้ก็มีราคาแพงกว่าชุดที่ 1 หลายเท่า ทำอย่างไรเราจึงจะยืดเวลา ให้ผู้ป่วยยังสามารถใช้ยาชุดที่ 1 ให้ได้นานที่สุด"

"ขณะที่มีผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการแพ้ยาในชุดที่ 1 โดยยาเนวิราพีน (Nevirapine) มีปัญหาการแพ้มากที่สุด" ดร.วสันต์เผย และบอกว่าจึงเลือกศึกษาหาดีเอ็นเอ ที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาเนวิราพีน เป็นการนำร่องในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อที่ในอนาคตจะได้จัดยาให้ผู้ป่วยตามยีน

จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาเนวิราพีน จะมีอยู่ประมาณ 15-20% ที่มีอาการแพ้ยา โดยมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย นักวิจัยจึงได้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ที่มีอาการดังกล่าวจำนวน 200 คนไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอ โดย ทพญ.สรนันทร์ จันทรางศุ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เป็นผู้ที่นำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเอดส์กลุ่มดังกล่าว ไปศึกษาที่สถาบันวิจัยริเคน (RIKEN) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งร่วมทำวิจัยด้วยกัน ในที่สุดก็พบยีน เอชแอลเอ-บี*3505 (HLA-B*3505) ซึ่งเป็นยีนที่มีอยู่ในผู้ป่วยทุกคนที่แพ้ยาเนวิราพีน

เมื่อค้นพบยีนต้นเหตุแล้ว สถานบันริเคนก็พัฒนาเป็นชุดตรวจยีน เอชแอลเอ-บี*3505 สำหรับคัดกรองผู้ป่วยเอดส์ ที่เสี่ยงต่อการแพ้ยาเนวิราพีนก่อนการให้ยา ซึ่งเดือน ส.ค.นี้ ริเคนจะส่งเครื่องและชุดตรวจดังกล่าว มาให้โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ทดลองใช้ ในประเทศไทยจำนวน 2 เครื่อง

เครื่องดังกล่าวจะติดตั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แห่.ละ 1 เครื่อง เพื่อทดสอบระดับคลินิกเป็นเวลา 1 ปี โดยศึกษาประสิทธิภาพ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเอดส์ ก่อนให้ยาเนวิราพีน เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วย ที่ได้รับยาโดยไม่ได้ตรวจยีน จากนั้นจะส่งข้อมูลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินการใช้จริงต่อไปหลังจากนั้น

"ขณะนี้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเอดส์สูงมาก เฉพาะในปี 2551 ก็หมดไปกว่า 1.4 พันล้านบาทแล้ว แต่หากเราสามารถตรวจยีนผู้ป่วยเอดส์ ก่อนให้ยาได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายยา ในส่วนของยาที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้ โดยผู้ป่วยที่มียีน เอชแอลเอ-บี*3505 ก็เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทนเนวิราพีน เช่น เอฟาไวเรนซ์ (Efavirenz)" ดร.วสันต์เผยข้อดี และเสริมว่ายาเอฟาไวเรนซ์ ก็เป็นยาในชุดที่ 1 เช่นกัน แต่อาจมีราคาแพงกว่า ทว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทำให้ยาเอฟาไวเรนซ์มีราคาถูกลง

สำหรับในอนาคต ดร.วสันต์ คาดหวังไว้ว่า จะสามารถค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาชนิดต่างๆ ทั้งในผู้ป่วยเอดส์, ผู้ป่วยทั่วไป และพัฒนาชุดตรวจที่สามารถตรวจหายีนแพ้ยาทุกชนิด ได้พร้อมกันในคราวเดียว จะได้จัดยาให้ผู้ป่วยตามยีน โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาและการรักษาที่ไม่ได้ผล ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นลงได้มากมาย.
รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์
ทพญ.สรนันทร์ จันทรางศุ
กำลังโหลดความคิดเห็น