xs
xsm
sm
md
lg

การจัดสรรเงินลงทุน...ความหมายที่แท้จริงของการลงทุนต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากใครยังจำกัดได้ เมื่อปี 2545 หรือเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่กองทุนต่างประเทศ หรือ Foreign Investment Fund : FIF เกิดขึ้นสำหรับการลงทุนในประเทสไทยเป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดทางออกไปลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศเพียง 5 กองทุนเท่านั้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวก็ยังจำกัดอยู่ที่การลงทุนในตราสารหนี้เพียงเท่านั้น

แต่กาลเวลาผ่านไป...แน่นอนว่าพัฒนาการทางการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะหน่วยงานที่ดูแลการเข้าออกของเงินในประเทศอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บวกกับแรงการกระตุ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การลงทุนในต่างประเทศเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนกองทุน สินทรัพย์ที่กองทุนออกไปลงทุน และที่สำคัญ นักลงทุนในบ้านเราเอง รู้จักคำว่าการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ศุภกร สุนทรกิจ
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานผู้จัดการกองทุนรวม ได้รับเกียรติจาก "ศุภกร สุนทรกิจ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เล่าให้ถึงการลงทุนในต่างประเทศให้ฟัง ซึ่งถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว

"ศุภกร" เล่าให้ฟังว่า กองทุนรวมต่างประเทศเพิ่งเป็นที่รู้จักสำหรับนักลงทุนชาวไทยอย่างจริงๆ จังๆ เพียงช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ หรือเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในต่างประเทศ ยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนกองทุนและสินทรัพย์ที่กองทุนออกไปลงทุน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด

ณ วันนี้ การลงทุนต่างประเทศได้รับการพูดถึงค่อนข้างมาก โดยปัจจัยหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยนี้เอง ทำให้ยากนักที่เรามองหาการลงทุนในประเทศที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ นอกซะจากการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ความผันผวนของตลาดหุ้นบ้านเรา ทำให้หลายคนยังกังวล ดังนั้น การหาช่องทางลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ทุกคนมองหากัน

"ถ้าจะลงทุนให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ต้องเป็นอะไรที่ขยับขึ้นไปตามเงินเฟ้อ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน สินค้าเกษตร ทองคำ หรือการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งหากมองถึงการลงทุนในบ้านเรา สินทรัพย์เหล่านี้ ยังไม่อยู่ในตัวเลือก จะมีก็แค่เพียงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ทางเลือกเหล่านี้มีอยู่แล้วในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่บรรดาบริษัทจัดการกองทุนจะออกกองทุนเหล่านี้ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน"

ดังนั้น การลงทุนในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่หลังจากปิดความเสี่ยงแล้ว ยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศ นอกจากนั้น ก็จะมีพันธบัตรรัฐบาลนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย แต่ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงค่าเงินได้ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นด้วยเหมือนกัน จะเห็นว่าที่ผ่านมาปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงไทยด้วย

อีกกระแสหนึ่งที่ได้รับคว่ามสนใจคือ การลงทุนในประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน...ซึ่งการลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วง 3-5 ปีที่แล้วถือว่าดีมาก เพียงแต่ปีที่ผ่านมา อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) ไปบ้าง ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานออกมาไม่ดีมากนัก

"ทางเลือกในการลงทุนเหล่านี้ยังมีอยู่ เพียงแต่จังหวะการเข้าไปลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเข้าไปถูกจังหวะ ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าไปในจังหวะที่ไม่ดี ก็หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้"

"ศุกภร" บอกว่า กระแสต่อมาก็คือการลงทุนใน "คอมมอดิตี้" อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าปัจจุบัน มีทางเลือกให้นักลงทุนค่อนข้างหลากหลาย และลงทุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือมีอยู่ในเมืองไทย...ซึ่งจากกระแสการแข่งขันเอง ส่งผลให้บรรดาบริษัทจัดการกองทุน ต่างพากันสรรหาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนในรูปแบบใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนทั้งนั้น เช่นเดียวกับ บลจ.เอ็มเอฟซีเอง ก็มีทางเลือกการลงทุนประเภทนี้ให้กับลูกค้าเช่นกัน

"การทำโพรดักซ์แพลน เราจะมองความเป็นไปของโลก ซึ่งเรามองเป็นเทรนใหญ่ แล้วก็วางโพรดักซ์ไว้ตามนั้น"

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีทางเลือกการลงทุนที่ค่อนข้างหลากหลายอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกระแสหลายอย่างที่บ้านเรายังไม่มี เช่น**กระแสการลงทุนในต่างประเทศในขณะนี้ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระแสลดภาวะโลกร้อน อีกกระหนึ่งที่ไม่แพ้กัน คือ การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือที่บ้านเราคุ้นเคยกันว่า CSR** (แต่ต่างประเทศจะใช้คำว่า SRI)

เขาบอกว่า การลงทุนในบริษัทเหล่านี้เองไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่นเลย ถึงแม้จะต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งไปใช้ในการรับผิดชอบทางสังคมด้วย และบางอย่างก็มีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ ประกอบกับบริษัทเหล่านี้อาจจะมีจำนวนน้อย ทำให้ขอบเขตการลงทุนยังจำกัด แต่จากผลวิจัยที่มีการศึกษาออกมา กลับพบว่าให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และให้ความสำคัญกับสังคม ทำให้นักลงทุนตอบรับสินค้าของบริษัทเหล่านี้ และทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

"การลงทุนดังที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการลงทุนแบบ Theme ซึ่งถูกคัดเลือกมาแล้ว วิเคราะห์แล้วว่ากระแสเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในอีก 5 ปี 10 ปีหลังจากนี้ เช่น คอมมอดิตี้ พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ ถ้าเทียบกับการลงทุนแบบปกติให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่มีความผันผวนที่จะเป็นข้อเสีย"

สำหรับกระแสที่น่าสนใจอีกกระแสคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund ซึ่งในประเทศไทยเองก็กำลังมีการลงทุนเหล่านี้อยู่ นอกจากนั้น กระแสการลงทุนของ "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" หรือ SWF ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน รวมถึงประเทศที่มีการส่งออกสูงๆ ซึ่งกองทุนเหล่านี้เอง เริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปซื้อบริษัท หรือซื้อเรียลแอซเซทมากขึ้น

"ศุภกร" ปิดท้ายว่า การลงทุนในต่างประเทศ เป็นช่องทางให้นักลงทุนได้กระจายการลงทุนนอกเหนือจากในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่สัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยไม่เกิน 1% ของการลงทุนเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่มั่นใจกับการฝากเงินไว้กันธนาคารพาณิชย์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ความสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศจะไม่อยู่ที่การเอาเงินออกไปลงทุนเท่านั้น แต่ความสำคัญจะอยู่ที่ว่าเราเอาเงินออกไปลงทุนเท่าไหร่ ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง ถือเป็นการให้ความสำคัญ ในการดูแลเอาใจใส่พอร์ตการลงทุนของเราเอง หรือเรียกว่า การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Alocation) นั่นเอง ซึ่งหากเป็นนั้น การลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนบ้านเรา ก็คงจะเป็นจาก 1% เป็น 5% เป็น 10% ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น