นักวิทย์แคนาดาบินตรงถึงไทยร่วมประชุมเห็ดรานานาชาติ เล่าประสบการณ์งานวิจัยเพาะเลี้ยงยีสต์ในห้องแล็บ พิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน เห็นพัฒนาการของจริงได้ในยีสต์ 500 รุ่น ยืนยันธรรมชาติเป็นตัวคัดสรรให้เกิดสปีชีส์ใหม่
ศ.ลินดา โคฮ์น (Prof. Linda M. Kohn) นักอนุกรมวิธานเห็ดรา มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ประเทศแคนาดา มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง "Adaptation examined through comparative genomics in experimental speciationW ภายในงานประชุมนานาชาติ "วิวัฒนาการของเห็ดรา นับจากยุคชาร์ลส ดาร์วิน" (Fungal Evolution and Charles Darwin: From Morphology to Molecules) ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.52 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
นักอนุกรมวิธานเห็ดราจากแคนาดา เล่าถึงการทดลองศึกษาวิวัฒนาการของยีสต์ในห้องแล็บ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของ "ชาร์ลส ดาร์วิน" นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยอธิบายไว้ว่า การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและการเกิดสปีชีส์ใหม่ต้องใช้เวลายาวนานมาก และไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงชีวิตของเรา แต่อาศัยจากหลักฐานฟอสซิลที่เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ศ.โคฮ์นได้นำยีสต์มาเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ โดยเริ่มต้นจาก 1 เซลล์ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายเซลล์ จากนั้นแบ่งยีสต์เหล่านี้ไปเพาะเลี้ยงต่อในอาหารเลี้ยงเชื้อ 2 ชนิดที่แตกต่างกันคือ อาหารเลี้ยงเชื้อที่เพิ่มความเค็ม และอาหารเลี้ยงเชื้อที่ลดปริมาณน้ำตาล
จากนั้นสังเกตเห็นว่า ยีสต์เริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ และเมื่อเพาะเลี้ยงยีสต์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หลายร้อยรุ่นแล้ววิเคราะห์พันธุกรรมของยีสต์ พบว่ายีสต์ที่เลี้ยงในอาหารทั้ง 2 แบบมีความแตกต่างกันและมีวิวัฒนาการแยกสายออกจากกันแล้ว โดยสายหนึ่งเป็นยีสต์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เค็มจัดได้ดี และอีกสายหนึ่งเป็นยีสต์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีน้ำตาลน้อยได้ดี
ไม่เพียงเท่านั้น ศ.โคฮ์น ยังได้ทดลองนำยีสต์ทั้งสองสายวิวัฒนาการมาผสมพันธุ์กันเพื่อให้ได้ยีสต์ลูกผสม เมื่อนำลูกผสมไปทดลองเลี้ยงในสภาวะแวดล้อมเช่นเดียวกับยีสต์รุ่นพ่อแม่ กลับพบว่ายีสต์ลูกผสมไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ดีเท่ากับยีสต์สายพันธุ์เดิมของพ่อและแม่ จึงยิ่งชี้ชัดว่ายีสต์ที่นำมาผสมพันธุ์กันนั้นมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันมาอย่างชัดเจน
"ถ้าดาร์วินยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เขาอาจได้เห็นวิวัฒนาการเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา" ศ.โคฮ์น กล่าว ซึ่งงานทดลองของเขาแสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการสามารถเกิดขึ้นได้ในยีสต์ประมาณ 500 รุ่น และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดสปีชีส์ใหม่ได้
ด้าน ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของยีสต์ในห้องทดลองของ ศ.โคฮ์น นับเป็นงานวิจัยพื้นฐาน ที่ไม่ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือสามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้
แต่เป็นงานวิจัยที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ ที่จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัยเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ ทำให้เข้าปฏิสัมพันธ์ของยีนกับสภาวะแวดล้อม เข้าใจกลไกการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นสปีชีส์ใหม่
อีกทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนเด็กๆ ให้เข้าใจถึงกลไกการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการท่องจำฟอสซิลเพียงอย่างเดียว.